ค้นหา
ห้องข่าว

“โฆสิต” แนะทางรอด SME โตด้วยตนเอง ไม่ก่อหนี้ ไม่รอรัฐช่วยเหลือ

  "โฆสิต" ระบุวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ รุนแรงกว่าปี 40 และยังหาจุดต่ำสุดไม่เจอ เผยทางรอด SME ไทย ต้องสร้างความแข็งแรงด้วยต้นเอง โดยไม่สร้างหนี้ หรือรอการอุดหนุนจากรัฐบาล แนะ 3 ปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว “บริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ-ขยายตลาดโดยคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ-ใช้นวัตกรรมตอบสนองความต้องการลูกค้า
       
       นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ และประธานสภาสถาบันและประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เปิดเผยในงานสัมมนาพิเศษ “วิสัยทัศน์ผู้บริหาร SME : โอกาสเศรษฐกิจใหม่ประตูสู่อนาคตเศรษฐกิจไทย” ว่า ประเทศไทยแม้เคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 มาแล้ว โดยวิกฤตครั้งนั้นเศรษฐกิจโลกยังดีอยู่ ประเทศไทยสามารถพึ่งการส่งออกได้ แต่สำหรับวิกฤติเศรษฐกิตในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าครั้งปี 2540 เนื่องจากต้นตอของปัญหาเกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าของโลกลดลงเป็นเหตุให้ภาคการส่งออกของทุกประเทศรวมถึงไทยเรามีปัญหา นอกจากนี้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะถึงจุดต่ำสุด
       
       อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่สามารถที่จะรอให้เศรษฐกิจโลกฟื้นได้ ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการผลักดันจากรัฐบาลเพื่อทดแทนการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนจากภาคเอกชนที่ลดลง กระนั้นการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลก็เป็นเพียงตัวชะลอความรุนแรงของผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นเท่านั้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่การปรับตัวของผู้ประกอบการณ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้
       
       “แม้เราจะมีการปรับตัวแต่ก็คงไม่อาจหนีวิกฤติครั้งนี้พ้น แต่อย่างน้อยก็สามารถช่วยให้รอดตายได้ ซึ่งการจัดทำวิสัยทัศน์บนพื้นฐานความจริงเป็นสิ่งที่สำคัญ คือเราต้องมีความแข็งแรงในการอยู่รอดที่ไม่ใช่การเติบโตจากหนี้สิน หากแต่ต้องเติบโตด้วยตนเอง ด้วยการไม่เป็นหนี้และไม่ได้พึ่งพาแต่การอุดหนุนจากรัฐบาล”
       
       ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ควรเร่งดำเนินการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจนั้น ประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.การจัดการด้านทรัพยากร เช่น คน, วัสดุ, พลังงาน, การจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือมากมายที่ผู้ประกอบการได้เรียนรู้กันมาแต่ไม่เคยได้นำมาใช้ เช่น ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอี หรือ JIT (Just in Time) ที่ในภาวะปัจจุบันผู้ประกอบการต้องนำความรู้นี้มาใช้ได้แล้ว
       
       2.การเป็นผู้ประกอบการ SME หมายถึงการขนาดธุรกิจจะใหญ่มากไม่ได้ การตลาดจึงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง แต่การรักษาลูกค้าด้วยการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะปัจจุบันไม่ใช่ยุคของการขายที่เน้นแต่ปริมาณอีกต่อไปแล้ว
       
       และ 3.นวัตกรรม ถือเป็นเรื่องใหญ่ของธุรกิจ SME เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่เราเสนอให้แก่ลูกค้า เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะทำอย่างไรในการที่จะทำให้สินค้าหรือบริการให้ประโยชน์กับลูกค้ามากที่สุด

                                                                                                                   ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 25  มีนาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350