ค้นหา
ห้องข่าว

สสว. เผยผลสำรวจ ก.พ. ส่งออก SMEs ปี 52 หด 6.4%

สสว. เผยผลสำรวจด้านส่งออก SMEs เดือนกุมภาพันธ์ รายสาขา ปี 52 แนวโน้มลดลง 6.4% สาขาที่ปรับตัวลดลงมากและต้องระวัง ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องอิเลคทรอนิกส์ ต่อเรือ เครื่องจักรกล ฯลฯ ทางออกของผู้ประกอบการต้องเข้าหาและใช้เครื่องมือของภาครัฐ มีการรวมกลุ่มเป็น Cluster ตัดธุรกิจที่ไม่มีโอกาส รักษาคุณภาพของสินค้า ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและควบคุมข้อผิดพลาด
       
       นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ สสว. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ด้านการส่งออก มีการปรับตัวเลขการคาดการณ์ด้านการส่งออกของ SMEs โดยคาดว่าในปี 2552 การส่งออกของ SMEs อาจจะทำได้เพียง 1,588,143.10 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.41 จากปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 1,696,900.95 ล้านบาท หรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคม 2552 ประมาณร้อยละ 8.74 ซึ่งมีตัวเลขคาดการณ์การส่งออกของ SMEs ว่าจะมีมูลค่า 1,726,891.00 ล้านบาท
       
       ทั้งนี้อุตสาหกรรมรายสาขาที่คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงมากและต้องระวัง โดยเฉพาะกลุ่มที่คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลงในอัตราร้อยละ 10-18 ประกอบด้วย ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องอิเล็คทรอนิกส์ ต่อเรือ เครื่องจักรกล หนังและผลิตภัณฑ์หนัง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เหล็กโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แร่อโลหะที่ใช้ในการก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์
       
       ส่วนอุตสาหกรรมในกลุ่มที่คาดว่ามีการปรับตัวลดลงในอัตราร้อยละ 1-9 ประกอบด้วย แก้วและเซรามิกส์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ เครื่องมือเฉพาะด้าน อัญมณีและเครื่องประดับ เยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ยาและสมุนไพร นมและผลิตภัณฑ์จากนม ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
       
       นายภักดิ์ เปิดเผยต่อว่า การส่งออกของ SMEs ในปี 2552 นี้อาจจะมีบางกิจการที่ยังมีผลประกอบการที่ดีเนื่องจากยังคงมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ แต่ในภาพรวมแล้วอุปสรรคและความไม่พร้อมจากปัญหาจุดอ่อนของ SMEs ด้านการจัดการ การตลาด การผลิต การดำเนินงาน เทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และการเงิน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งสะท้อนได้จากดัชนีผลตอบแทน ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภาพทุน และความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
       
       ดังนั้นแนวทางการปรับตัวของ SMEs เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ประกอบการ SMEs ควรต้องดำเนินการดังนี้ 1.พิจารณาและวิเคราะห์อุปสรรคที่รุนแรงที่สุดของกิจการโดยพิจารณาจากการแข่งขัน ผู้สนับสนุนวัตถุดิบ สินค้าทดแทน ผู้ซื้อ กฏระเบียบและมาตรการของภาครัฐ 2.พิจารณาและวิเคราะห์จุดอ่อนที่สุดของกิจการโดยพิจารณาจาก ผลิตภัณฑ์ ราคา ต้นทุน การขนส่ง วิธีการขาย กระบวนการทำงานภายใน การเงิน คน เทคโนโลยี และ 3.พิจารณาและเลือกแก้ไขจุดที่อ่อนที่สุด ประกอบกับการขจัดปัญหาอุปสรรคที่รุนแรงที่สุด
       
       โดยแนวทางการแก้ไขจุดอ่อนและขจัดปัญหาอุปสรรคที่รุนแรงที่สุด ผู้ประกอบการควรจะดำเนินการโดย 1.การเข้าหาแหล่งข้อมูลของภาครัฐ และใช้เครื่องมือของภาครัฐอย่างเต็มประสิทธิภาพในทุกเรื่องเท่าที่จะทำได้ 2.มีการรวมกลุ่มแบบ Cluster ที่ทำการผลิตเหมือนกันเพื่อจัดทำ Production and Market Sharing ในส่วนที่กิจการไม่มีกำไรแต่เป็นธุรกิจหลักของสมาชิกในกลุ่ม 3.ควรมีการตัดทอนส่วนธุรกิจที่ไม่มีโอกาส เพื่อมามุ่งเน้นความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่ถนัด 4.ใช้ความสม่ำเสมอและการรักษาคุณภาพเพื่อเป็นแรงขับความพึงพอใจของลูกค้า ให้กล้าที่จะสั่งซื้อแม้จะยังไม่มีความเชื่อมั่น 5.ใช้ที่ปรึกษาของสถาบันทางการเงินเพื่อการวางแผนธุรกิจ และการเลือกใช้บริการทางการเงินที่เหมาะสมที่สุด และ 6.มีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และการควบคุมข้อผิดพลาดในการประกอบกิจการและการผลิต เป็นต้น
       
       นอกจากนี้ ในส่วนของผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 4,200 ตัวอย่างทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่าจำนวนมากกว่าร้อยละ 98 ของผู้ประกอบการ SMEs ที่ตอบคำถาม ยังคงกังวลกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีผลมาจากข่าวสถานการณ์ในด้านลบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างในเดือนมกราคม ลดลง 3.3% (y-o-y) ธนาคาร HSBC ลดการจ้างงาน 6,100 ตำแหน่ง การผลิตภาคอุตสาหกรรมของรัสเซียหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ยอดการส่งออกของอินเดียและเกาหลีใต้ ลดลงต่อเนื่อง เป็นต้น
    

                                                                                                                    ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 24 มีนาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350