ค้นหา
ห้องข่าว

“เอสเอ็มอีแบงก์” งานเข้า! “สาทิตย์” โยนนายกฯ รับทราบทุจริตแท็กซี่เอื้ออาทร

    “สาทิตย์” ระบุเตรียมส่งเรื่องปัญหาฉาวแท็กซี่เอื้ออาทรให้ “ประดิษฐ์” และนายกฯ รับทราบ นัดให้คำตอบภายใน 15 วัน ด้านกลุ่มแท็กซี่ผู้เสียหาย แฉทุจริตมัดมือชกติดอุปกรณ์เสริมเกินจำเป็น รถราคาพุ่งจาก 7 แสนเป็น 1 ล้านบาท แถมรถไม่ใช่ยี่ห้อตามข้อตกลง อะไหล่ปลอม วอนระงับความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน และตรวจสอบเอสเอ็มอีแบงก์ดำเนินการไม่โปร่งใส
       
       นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า หลังจากที่ผู้ขับรถแท็กซี่ ในโครงการแท็กซี่เอื้ออาทร ได้เดินทางมาร้องนายกรัฐมนตรีถึงความไม่ชอบมาพากลในโครงการดังกล่าว ซึ่งมูลค่ารถพุ่งสูงจาก 700,000 บาทเศษ เป็น 1 ล้านบาท
       
       โดยหลังจากได้รับเรื่องไว้แล้ว จะประสานงานผ่านไปทางนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะที่กำกับดูแลธนาคารเอสเอ็มอี และจะรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ ซึ่งกลุ่มแท็กซี่เอื้ออาทรที่มาเรียกร้องแสดงความพอใจ และจะขอกลับมาฟังคำตอบภายใน 15 วันก่อนสลายตัวไป
       
       สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นวานนี้ (23 มี.ค.) กลุ่มแท็กซี่เอื้ออาทรประมาณ 60 คน นำโดยนายวิทยา แก้วทองคำ ผู้ประสานงาน ได้ขับรถแท็กซี่ที่ซื้อจากโครงการแท็กซี่เอื้ออาทร มาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับเรื่องไว้ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากโครงการแท็กซี่เอื้ออาทร
       
       นายวิทยา ระบุว่า โครงการดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยเข้ามาเป็นเจ้าของรถแท็กซี่ ซึ่งตอนแรกจะให้เช่าซื้อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ คือ ร้อยละ 0.5 และตามข้อตกลงเป็นรถโตโยต้า อัลติส แต่ต่อมากลายเป็นรถนิสสันไทยรุ่ง ของบริษัท สยามนิสสัน ธนบุรี โดยกำหนดราคารถเป็นเงิน 779,560 บาท โดยกำหนดว่า เมื่อตกลงซื้อรถแล้ว ต้องทำสัญญากับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) โดยใช้ระบบผ่อนชำระที่มีการเก็บผลประโยชน์อีกร้อยละ 4.34 ทำให้ยอดหนี้การผ่อนชำระสูงถึง 933,028 บาท อีกทั้งกำหนดให้ต้องซื้ออุปกรณ์สื่อสารประกอบอีก มูลค่ากว่า 46,261.68 บาท รวมค่าผลประโยชน์ด้วยเป็นเงิน 56,355 บาท และยังเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 เป็นเงิน 69,257 บาท รวมแล้ว ค่ารถแท็กซี่ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,058,639.81 บาท
       
       นายวิทยา กล่าวต่อว่า หลังผ่อนชำระไประยะหนึ่งปรากฏว่า รถที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1,500 คัน ล้วนมีปัญหาอันเนื่องมาจากการใช้งานตามปกติ ทั้งด้านอะไหล่ และอุปกรณ์ภายในรถ โดยเมื่อตรวจเช็กปรากฏว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ส่วนใหญ่ไม่ใช่ของแท้
       
       ทั้งนี้ เคยร้องเรียนเรื่องนี้มาแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆ จึงเดินทางมาร้องเรียนอีกครั้ง เพื่อขอให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงและปรับโครงสร้างของราคาเช่าซื้อแท็กซี่เอื้ออาทร นอกจากนี้ ขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยระงับความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน ในกรณีที่ธนาคารและบริษัทยกเลิกสัญญาจากการขาดส่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะทราบว่าธนาคารและบริษัทที่ขายรถได้ร่วมมือกัน เพื่อนำรถที่ยึดไปออกขายทอดตลาดและเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกตนเอง ขณะเดียวกันขอให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งมีส่วนรู้เห็นที่มาที่ไปของโครงการฯ นี้มาตั้งแต่เริ่มต้น

                                                                                                                    ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 24 มีนาคม 2552

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350