ค้นหา
ห้องข่าว

"เอสเอ็มอี" ปีหน้ายังอ่วม ใช้จ่ายฝืด – แนะรัฐผ่อนภาษีช่วย

 

"ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช" ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษากาาค้าระหว่าประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มไทยปีหน้ายังเผชิญปัญหาหนักจากภาคอุปโภค-บริโภคยังมีสัญญาณฟื้นไม่ชัด ขณะที่ราคาน้ำมันยังพุ่งต่อ คาดไตรมาสแรกทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนการเมืองแม้จะมีการเลือกตั้งยังความไม่มั่นคงในเสถียรภาพ แนะภาครัฐพิจารณาผ่อนคลายด้านภาษีช่วยผู้ประกอบการ พร้อมทบทวนมาตรการกันสำรอง 30% ระบุไม่ช่วยลดบาทผันผวน ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวในการบริหารต้นทุน ซึ่งทางด้านภาพรวมของประเทศนั้น ปีนี้ (2550) เป็นที่แย่สำหรับธุรกิจมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี ปัญหาหลักก็ขายสินค้าไม่ได้ เพราะคนบริโภคน้อยลง ทำให้ไม่มีเงินหมุน คืออาจจะหมุนรอบเดียวแล้วก็เก็บ ทำให้เงินฝืดเคือง ปัจจัยก็มีมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีเป็นเรื่องการเมืองตอนต้นปี จากนั้นก็มาเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง น้ำมัน ขณะที่เม็ดเงินที่รัฐช่วยเหลือลงไปไม่ค่อยถึงมือประชาชน ทำให้การบริโภคชะลอตัวลงตลอดปี ส่วนที่หลายๆฝ่ายบอกว่าไตรมาส 3-4 จะฟื้น แต่มาเจอน้ำมันเข้าไปก็กลับมาแย่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยการเมืองคลี่คลายไปได้มากหลังจากจะมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ แต่จริงๆแล้วความเสี่ยงก็ยังมีอยู่เพราะรัฐบาลอาจจะมีระยะเวลาอยู่น้อย เพราะจะเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน การจะผลักดันนโยบายของพรรคใดพรรคเดียวก็ทำได้ยาก แต่ในระยะสั้นๆอย่างในปีหน้าการดำเนินนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลคงจะไม่มีปัญหา การแก้ปัญหาเรื่องปากท้องคงเห็นเป็นรูปร่าง เพราะได้หาเสียงไว้มาก

นอกจากนี้ ในปีหน้า (2551) ยังต้องเผชิญเรื่องเงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ราคาสินค้าที่สูงขึ้น แต่ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย คือ ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น แต่รายได้คนยังเท่าเดิม ซึ่งนำมาเทียบกับเงินเฟ้อแล้วถือว่าลดลงด้วย จากปกติเงินเฟ้อจะมาพร้อมกับการจับจ่ายใช้สอย เหมือนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง แต่คนก็ไม่เดือดร้อน เพราะมีเงินจับจ่ายใช้สอย แต่พอมาตอนนี้ภาพจะกลับกันคือ เงินไม่เพิ่ม ระดับราคาสินค้าสูงขึ้น ก็จะเดือดร้อนกันมากขึ้น

ในส่วนผู้ประกอบการก็ควรมีการพึ่งพาตนเอง ก็อย่าหวังพึ่งภาครัฐมากนัก เห็นช่องทางการทำธุรกิจก็อย่ารอรัฐบาล นอกจากนี้ ต้องบริหารจัดการเรื่องต้นทุนให้ได้ โดยเฉพาะด้านลอจิติกส์ แม้ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นและเราควบคุมไม่ได้ แต่ในเรื่องอื่นๆอย่างสินค้าคงคลังเราบริหารได้ก็จะช่วยได้มาก การพูดคุยหารือกันในกลุ่มก็เป็นเรื่องที่สำคัญต้องสร้างกลุ่มหรือสมาคมให้เข้มแข็ง จะทำให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น มีการแชร์ความคิด แชร์วัตถุดิบ เป็นต้น มองการขยับขยายไปต่างประเทศอย่างเพื่อนบ้านถ้ามีกำลังพอ เพื่อที่จะไปหาสิทธิพิเศษ GSP ซึ่งในลาว กัมพูชา หรืออื่นๆที่ยังได้รับสิทธิอยู่และมีต้นทุนด้านอื่นอย่างค่าแรงที่ต่ำกว่าด้วย พร้อมกันนั้น ก็การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไปด้วย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ อันนี้ต้องอาศัยการหาข้อมูลในเชิงลึกตามหน่วยงานต่างๆเพื่อนำมาใช้ประโยชน์กับตัวเองให้มากที่สุด

ในส่วนของภาครัฐฯนั้น รัฐบาลควรมีการทบทวนความไม่ชัดเจนของกฎหมายระเบียบต่างๆที่ต้องตีความ ให้ชัดเจน สร้างความกระจ่างเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน แล้วภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันรัฐจะช่วยผู้ประกอบการทางด้านภาษีได้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้ายที่เก็บยุบยับ จะผ่อนคลายอย่างไร เพื่อช่วยด้านต้นทุนที่สูงขึ้นส่วนมาตรการกันสำรอง 30% นั้น พอใช้ไประยะหนึ่งเห็นว่าควรจะต้องมีการทบทวนว่า มาตรการมันช่วยให้เงินบาทมีเสถียรภาพหรือเปล่า มาตรการนี้ควรจะช่วยไม่ให้เงินบาทผันผวนหรือแกว่งเกินไป แต่ตอนนี้เงินบาทก็ยังแข็ง ยังมีความผันผวนอยู่ มีการแยก 2 ตลาดชัดเจน จึงควรทบทวนว่าน่าจะมีการปรับปรุงแค่ไหนอย่างไร อาจจะไม่ถึงขึ้นยกเลิก

 

                                                                                  ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 10 ธันวาคม 2550

ดาวน์โหลด PDF

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350