ค้นหา
ห้องข่าว

‘สถาบันอาหาร’แนะสินค้าเกษตร ศึกษาสิทธิ JTEPA ชิงตลาดเอเชีย

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JAPAN-THAILAND ECONOMIC PARTNERSHIP AGREEMENT : JTEPA) คาดว่าจะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มประมง โดยเฉพาะกุ้ง และกลุ่มผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนสด แช่เย็น แช่แข็ง เช่น ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มังคุด มะพร้าว รวมทั้งน้ำผลไม้ เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้เป็นสินค้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นลดภาษีให้ทันทีหรือทยอยลดกระทั่งเป็นศูนย์ภายใน 5 ปี ทั้งนี้สินค้าประเภทไก่ปรุงสุก ถึงแม้จะไม่มีการยกเลิกภาษีแต่ญี่ปุ่นได้เปิดให้ลดภาษีจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 3 ภายใน 5 ปี และกล้วยสด สับปะรดผลสด เนื้อหมูและแฮมแปรรูปที่ญี่ปุ่นได้จัดสรรให้ในรูปของโควตาภาษีสินค้าเกษตร ส่วนผู้ประกอบการในกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมและแตงชนิดอื่นๆ ซึ่งไทยทยอยลดภาษีจาก 40% เป็น 0% ภายใน 2 ปี มันฝรั่งสด ทยอยลดจาก 35% เป็น 0% ภายใน 8 ปี หอมแดงและกระเทียมสด ที่ไทยยกเลิกภาษีในโควตาภายใต้ WTO ในทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้

สำหรับในส่วนของความร่วมมืออื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาที่สำคัญ คือ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ประกอบด้วยโครงการความร่วมมือ 7 โครงการ โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร คือ โครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนครัวไทยสู่ครัวโลก ที่จะเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาช่องทางใหม่ๆ ทางการตลาดสำหรับอาหารไทย ซึ่งทางสถาบันอาหารได้ร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO Bangkok) และกรมส่งเสริมการ ส่งออก เพื่อเตรียมการใช้ประโยชน์จากความร่วมมือสนับสนุนโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก

 

                                                                             ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 27 พฤศจิกายน 2550

ดาวน์โหลด PDF

 

 



ศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs ( Family Business & SMEs Study Center ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตึก 7 ชั้น 12
เบอร์โทรศัพท์ 0-2-697-6351-2 โทรสาร 0-2697-6350