อนาคตกำหนดปัจจุบัน


คอลัมน์ CREATIVE Space

ในขณะที่ใครๆ เพิ่งเริ่มพูดถึงการก้าวผ่านจากยุคข้อมูลข่าวสาร (informa tion age) ไปสู่เศรษฐกิจจากความคิด (conceptual economy) นั้น แต่ทว่า อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐผู้ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งของโลก มองเห็นสิ่งนี้และใช้ประโยชน์จากมันมาเป็นเวลาหนึ่งศตวรรษ !

ในปี 1997 อลัน กรีนสแปน ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยคอนเนกทิกัต ถึงเรื่องความสำคัญของผลผลิตทางความคิด (conceptual output) ไว้ว่า การเติบโตของผลผลิตทางความคิดจะนำไปสู่ความต้องการแรงงานที่ไม่ได้มีเพียงความรู้ทางด้านเทคนิค แต่เป็นแรงงานที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ วิเคราะห์ ใช้ประโยชน์จากข้อมูล และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ (create, analyze, transform information and interact effectively with others) ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวได้นำไปสู่นโยบายที่จะลดปริมาณงานทางด้านเทคนิคและการผลิตในประเทศ และกระจายงานที่ไม่เกิดมูลค่าทางความคิดเหล่านั้นไปสู่ประเทศอื่นๆ อย่างอินเดียและจีน โดยเชื่อว่า การเก็บแต่งานที่ใช้มันสมองไว้ในประเทศนี้จะนำไปสู่ผลผลิตที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต

นั่นเป็นเวลา 8 ปี ก่อนที่ ทอม ฟรีดแมน จะตีพิมพ์หนังสือเล่มดัง The World is Flat ที่พูดถึงเรื่องพลังของการ

กระจายงานที่ไม่เกิดมูลค่าทางความคิดไปให้กับประเทศในแถบเอเชีย ที่หลายๆ คนกำลังอ่านกันอยู่ในวันนี้

สิ่งที่กรีนสแปนได้กล่าวไว้และพยายามจะผลักดันให้เกิดผลในเชิงนโยบายนั้น เป็นความสามารถในการมองเห็นอนาคต ที่ไม่ได้มาจากการทำนาย แต่มาจากการวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์อนาคต ที่เรียกว่าอนาคตศาสตร์ หรือ Futurology

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจของเรื่องอนาคตศาสตร์ คือ Copenhagen Institute of Future Studies (CIFS) องค์กรไม่หวังผลกำไรที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1970 ได้ทำการวิเคราะห์อนาคต โดยการรวบรวมข้อมูลการวิจัยจากทั่วโลก เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจสำหรับผู้บริหารขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจของ CIFS คือ dreambuilding ? กระบวนวิเคราะห์เพื่อพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่กำหนด โดยให้ผู้บริหารองค์กร พนักงาน และนักอนาคตศาสตร์ ร่วมกัน จำลองกระบวนการพัฒนาองค์กร โดยมีเป้าหมายคือ สิ่งที่ทุกคนฝันร่วมกัน

กระบวนการ dreambuilding ? ที่ว่านี้พัฒนามาจากหนังสือ The Dream Society ซึ่งเขียนโดยรอล์ฟ เจนเซ่น อดีตผู้อำนวยการ CIFS โดยหนังสือดังกล่าวพูดถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคจากตัวสินค้าและบริการ มาเป็นไลฟ์สไตล์ ประสบการณ์ อารมณ์ รวมถึงเรื่องราว (story telling) ในยุคที่งานต่างๆ สามารถถูกแทนที่ได้ด้วยระบบอัตโนมัติและคนหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงในการตัดสินใจของผู้บริหารในหลายๆ องค์กรในปัจจุบัน

พบกับรอล์ฟ เจนเซ่น หนึ่งในนักอนาคตศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก ได้ในงาน Creativities Unfold, Bangkok 2007-08 ซึ่งจัดโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ระหว่าง วันที่ 10-14 ตุลาคมนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.creativitiesunfold.com

หน้า 60


 

 

ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ   8 ตุลาคม พ.ศ. 2550