FTA-WatchดึงJTEPAฟ้องศาลปกครอง กม.สัญญาระหว่างปท.ผ่านสภาวาระ1
 


ร่าง กม.หนังสือสัญญาระหว่างประเทศผ่านสภาวาระ 1 ฉลุย หลังกลุ่ม NGO รวมพลังผลักดันร่าง ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศเพิ่งตั้งหลัก ขอนำร่างกลับไปศึกษาอีก 30 วัน พร้อมๆ กับความเคลื่อนไหวของ IDRI ที่ส่งร่างฉบับนักวิชาการเข้ามาด้วย ด้านกลุ่ม FTA Watch ออกมาเคลื่อนไหวหนัก เตรียมฟ้องศาลปกครอง กล่าวหารัฐบาลประกาศบังคับใช้ความตกลง JTEPA ขัดรัฐธรรมนูญ


กระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 190 ที่ระบุว่า "หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้าน การค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบ ของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้ แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ดังกล่าว

และ "...ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางหรือมีผลผูกพันด้านการค้าหรือการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าว โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้รับประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป..."

จึงเป็นที่มาให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยนายสุริชัย หวันแก้ว, นางเตือนใจ ดีเทศน์, นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์, นายสมเกียรติ อ่อนวิมล และอื่นๆ เสนอ "ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ..." แก่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติฯเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมานี้

เข้าสภาผ่านวาระ 1

นายสุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ... ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 55/2550 กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาวาระ 1 ของสภานิติบัญญัติฯแล้ว โดยที่ประชุมได้ตั้งตัวแทนรัฐบาลขอนำร่าง พ.ร.บ.นี้ไปศึกษาภายใน 30 วัน ก่อนจะตอบกลับมาที่สภานิติบัญญัติฯอีกครั้ง

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ. ... มีหลักการเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเพื่อใช้เป็นการเฉพาะ

ขณะที่การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศบางประเภทได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.จึงเสนอให้มีกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้กระบวนการเจรจาและจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี จากกลุ่มศึกษา เขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ระบุว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวจะช่วยให้ปัญหาที่เกิดขึ้น กับการทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้ จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

และโดยหน้าที่กฎหมายนี้จะไม่ขัดขวางหรือสร้างอุปสรรคในการทำหนังสือสัญญาในอนาคต แต่จะสร้างความชัดเจนให้ฝ่ายที่มีบทบาทหน้าที่ต่างๆ ได้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ บน พื้นฐานของความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยไม่กระทบต่อท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศในการเจรจาการค้า

นักวิชาการทำร่าง กม.ประกบ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในฐานะหัวหน้าโครงการงานวิจัยการมีส่วนร่วมของประชาชน และกลไกในการลดผลกระทบด้านลบจากการทำความตกลงการค้าเสรี (สกว.) กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายนักวิชาการได้ร่างกฎหมายการทำหนังสือสัญญาทางการค้าและการลงทุน เสนอให้กับนาย สุริชัย ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาประกอบกับการเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไปแล้ว

NGO ตั้งท่าฟ้องรัฐบาลเดินหน้า JTEPA

ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 ว่า นายสุวิทย์ สิมะสกุล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว มีหนังสือทางการทูตแลกเปลี่ยนกับนายมะชะฮิโกะ โคมุระ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เพื่อแจ้งให้แต่ละฝ่ายทราบว่า ไทยและญี่ปุ่นได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เสร็จสิ้นแล้ว โดยให้มีผลบังคับใช้ JTEPA ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนั้น

นายจักรชัยได้ให้ความเห็นถึงการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตว่า ภาคประชาชนกำลังพิจารณาถึงเรื่องกระบวนการยื่นฟ้องรัฐบาล ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานประพฤติขัดรัฐ ธรรมนูญ เนื่องจากรัฐบาลนี้ประพฤติตัวไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ในการตีความรัฐธรรมนูญให้อำนาจฝ่ายบริหารในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา

ทั้งที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 190 กำหนดให้การทำหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน เนื่องจากมาตรา 190 เกิดขึ้นบนพื้นฐานการรับรู้ปัญหาที่เคยเกิดกับมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญฯ 2540 เป็นการพัฒนาบนพื้นฐานแนวคิดที่ว่าข้อตกลงทวิภาคีอย่าง JTEPA, ไทย-สหรัฐ หรือเอฟทีเออื่นๆ รวมถึงข้อตกลงทางการค้าอีกหลายฉบับ และข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อม ควรให้รัฐสภาพิจารณา

"เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์ของมาตรา 190 คือ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 การที่รัฐบาลเร่งรัดตัดตอนกระบวนการนับเป็นการขัดกับกรอบกติกาที่รัฐบาลนี้เป็นผู้ร่วมสร้างเอง กล่าวได้ว่าพอเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลก็เปิดศักราชการละเมิดเสียเอง ซึ่งถือได้ว่ารัฐบาลไม่มีความรับผิดชอบต่อรัฐธรรมนูญที่ร่วมสร้างขึ้นมา" นายจักรชัยกล่าว

หน้า 6

 

ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ   8 ตุลาคม พ.ศ. 2550