สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สัญญาระหว่าง ปท.



ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ พ.ศ....ฉบับที่เสนอโดยนายสุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมคณะ มีสาระสำคัญเริ่มตั้งแต่ นิยามของ "หนังสือสัญญาระหว่างประเทศ" หมายความว่า หนังสือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยหรือส่วนราชการไทยในนามประเทศไทยกับรัฐต่างประเทศหรือส่วนราชการต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ โดยก่อให้เกิดสิทธิและพันธกรณีระหว่างกันภายใต้บังคับกฎหมาย มีผลผูกพันการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน งบประมาณของประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน ให้หมายถึง การลดอัตราภาษีจากระดับอัตราภาษีที่ประเทศไทยผูกพันไว้กับความตกลงพหุภาคีใน WTO การเพิ่มสัดส่วนโควตาปริมาณการนำเข้าสินค้า การบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน หรือผลผูกพันงบประมาณในประเทศมากกว่าร้อยละ 0.5 โดยกำหนดให้มี คณะกรรมการประสานการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ขึ้นมาชุดหนึ่ง มี นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กรรมการส่วนราชการ 9 คน ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 คน แต่ให้คัดเลือกมาจากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิของ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำขึ้น มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการชุดนี้

คณะกรรมการประสานการเจรจาฯมีอำนาจให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการเจรจา ออกระเบียบและประกาศเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การตั้งคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมาย โดย ครม.จะต้องจัดทำแผนการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบโดยจัดเป็นแผน 4 ปี ก่อนการเจรจา ขณะเดียวกันต้องจัดทำ แผนป้องกันและมาตรการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเจรจาในฐานะผู้สังเกตการณ์ในการเจรจาด้วย

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเข้ามาทำหน้าที่บริหารการศึกษาวิจัยข้อมูลและผลกระทบก่อนและหลังการเจรจา โดยให้รายงานผลการศึกษาต่อ ครม.และรัฐสภา ข้อมูลการเจรจาก่อน-ระหว่างการเจรจา และหลังการเจรจา จะต้องส่งให้สภาที่ปรึกษาฯรวมทั้งเผยแพร่ออกสู่ภาคประชาชนอย่างอิสระปราศจากการแทรกแซง

นอกจากนี้ในระหว่างกระบวนการเจรจาและภายหลังการเจรจาจบสิ้น รัฐบาลจะต้องจัดให้มีการทำประชาพิจารณ์โดย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบจาก รัฐสภา เพื่อนำไปสู่การพิจารณาประกอบการเจรจา การลงนาม การแก้ไข หรือยกเลิก หนังสือสัญญาระหว่างประเทศฉบับนั้นๆ ก็ได้

หน้า 6

 

ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ   8 ตุลาคม พ.ศ. 2550