สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
ได้ติดตามสถานการณ์การนำเข้าสินค้าทุนหรือการนำเข้าวัตถุดิบที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากการนำเข้าจะสะท้อนถึงการขยายตัวของภาคผลิตและภาคการส่งออกของสินค้าแต่ละประเภท
โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สศอ.พบว่าการนำเข้าสินค้าของภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงมากนัก
จนกระทั่งล่าสุดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่า
การนำเข้าสินค้าทุนของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ "ลดลง"
โดยเฉพาะประเภทเครื่องจักรกล, สินค้าทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์
และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกโดยรวมของประเทศภายใน
2-3 เดือนข้างหน้านี้ได้ เพราะสินค้ายานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 2
กลุ่มนี้มียอดการส่งออกอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ หรือคิดเป็นสัดส่วน
25-30% ของยอดการส่งออกรวมทั้งหมด
ด้าน นางอรรชกา ศรีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการ
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ.จะเข้าไปดูรายละเอียดว่า
การนำเข้าเครื่องจักรที่ลดลงนั้น "มาจากสาเหตุใด"
และส่วนใหญ่เป็นของอุตสาหกรรมใด
จะส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตามเบื้องต้น สศอ.ประเมินว่า
ยอดการส่งออกสินค้าของประเทศไทยในเดือนสิงหาคมนี้
น่าจะปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคม
เพราะแนวโน้มการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดหลักอย่างสหรัฐจะยังคงลดลง
โดยปัจจัยหลักไม่ได้มาจากปัญหาซับไพรมหรือค่าเงินบาท
แต่เป็นผลมาจากขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการที่ลดลง
เห็นได้จากยอดการส่งออกไปสหรัฐของประเทศคู่แข่งอย่าง จีน, ไต้หวัน,
เวียดนาม ยังคงมีการขยายตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง
โดยอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ สิ่งทอ, รองเท้า, อัญมณีและเครื่องประดับ
ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทย ในสหรัฐลดลงเหลือร้อยละ 15
จากเดิมอยู่ที่ ร้อยละ 20
"ตัวเลขการส่งออกในเดือนสิงหาคมที่ปรับลดลงนั้น
ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าภาคการเกษตรที่ปรับลดลงมาก
แต่ต่อไปก็จะมีผลกระทบจากสินค้าภาคอุตสาหกรรมด้วย
อย่างไรก็ตามการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงอาจจะยังไม่เห็นผลต่อการส่งออกชัดเจนนักในเดือนสิงหาคม
เพราะผู้ผลิตอาจจะยังมีสต๊อกสินค้าเก็บไว้อยู่ แต่จะเห็นผลในช่วง 2-3
เดือนถัดไป" นางอรรชกา ศรีบุญเรือง บริมเบิล กล่าว
ขณะที่ นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ.
กล่าวว่า สศอ.ได้ทำการสำรวจเรื่อง
"ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลอย่างไรต่อการนำเข้าวัตถุดิบ"
เพื่อดูว่าผู้ผลิตจะมีการเปลี่ยนไปนำเข้าวัตถุดิบแทนการใช้วัตถุดิบในประเทศหรือไม่
หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 70 รายจาก 7
กลุ่มสินค้า คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, ปิโตรเคมี/พลาสติก,
เหล็กและโลหะการ, อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, อาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มยานยนต์เป็นกลุ่มที่เปลี่ยนไปนำเข้าวัตถดิบแทนมากที่สุด
โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ 50% บอกว่าจะนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น
11-30% และอีก 50% บอกว่า จะนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31-60 รองลงมาคือ
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผู้ประกอบการร้อยละ 85 บอกว่า
จะนำเข้าเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 10
สำหรับเหตุผลที่ทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นนั้น
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ระบุว่า
เป็นผลมาจากความต้องการของลูกค้าที่ต้องการใช้วัตถุดิบนำเข้า
เนื่องจากมีคุณภาพที่ดีกว่า ขณะที่ราคานำเข้าก็ลดลง
หากค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปอีก
ผู้ประกอบการหลายรายระบุตรงกันว่า
จะเริ่มหันมานำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สศอ.มองว่า
ค่าเงินบาทในปัจจุบันก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าต้นปี
ดังนั้นจึงเชื่อว่าผู้ประกอบการคงจะไม่เปลี่ยนไปนำเข้าวัตถุดิบในช่วงครึ่งปีหลังมากนัก
หน้า 8
|