เปิดวาระประชุมผู้นำเอเปก 5-6 ก.ย.นี้ เจ้าภาพออสเตรเลีย
ผลักดันแถลงการณ์ climate change แก้ปัญหาโลกร้อน หวัง ปท.สมาชิก
เอเปกหนุนพิธีสารเกียวโต ด้านสมาชิกเอเปกชี้ยังมีปัญหาทางเทคนิคคำนิยาม "energy
intensity" พร้อมส่งสัญญาณให้เจรจารอบโดฮาปลาย
ก.ย.นี้ทะลุกรอบเจรจาสินค้าเกษตร-ไม่ใช่เกษตรให้ได้
เตรียมวางเป้าหมายระยะยาวให้เอเปกเดินหน้าสู่เขตการค้าเสรีเอเปก
การประชุมระดับผู้นำกลุ่มความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก ครั้งที่
15 จัดขึ้นที่นครซิดนีย์ เครือรัฐออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน
2550 ซึ่งจะมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย
และการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปก (AMM) ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 5-6
กันยายน 2550 ที่มีนายนิตย์
พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายเกริกไกร จีระแพทย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย
นายวีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า
ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้นำเอเปก
จะมีการหารือถึงเรื่องการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (regional economic integration
หรือ REI) การสนับสนุนการเจรจารอบ โดฮา ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)
การอำนวยความสะดวกทางการค้า ระบบการทำ model measure for FTA
การรับสมาชิกใหม่ การปฏิรูปเอเปก การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
ความมั่นคงมนุษย์ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ECOTECH)
ออสเตรเลียในฐานะเจ้าภาพตั้งเป้าที่จะผลักดันในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
(climate change) และจะให้มีแถลงการณ์แยกของผู้นำในเรื่อง Climate Change,
Energy Security and Clean Development
อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันประเทศสมาชิก 70% เห็นด้วยกับแถลงการณ์ climate
change แต่ยังมีปัญหาในเรื่องคำนิยามของ "energy intensity"
ที่ประเทศสมาชิกยังมีความเข้าใจแตกต่างกัน
ดังนั้นจึงจะมีการเจรจาในประเด็นนี้โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 4 กันยายนนี้
"ประเด็น climate change จริงๆ ไม่ใช่เรื่องของเอเปก
เป็นเรื่องขององค์การสหประชาชาติที่ต้องการแก้ปัญหาโลกร้อน
และดำเนินมาเรื่อยๆ ต่อมาตกลงเป็นพิธีสารเกียวโต แต่สหรัฐไม่ได้เป็นภาคี
ทำให้การดำเนินการใดๆ ไม่ประสบความสำเร็จ 100% ดังนั้น
ออสเตรเลียต้องการให้เอเปกสนับสนุนว่า หลังปี 2012
พิธีสารนี้จะดำเนินอย่างไรต่อไป ไทยเห็นว่าเอเปกควรคุยกันในเรื่องนี้
แต่ไม่ใช่เป็นประเด็นหลัก ออสเตรเลียเข้าใจว่าหลายประเทศ เช่น จีน
กังวลประเด็นนี้ แต่ออสเตรเลียระบุว่า เขาต้องการที่จะให้เอเปกประกาศลด "energy
intensity" ในภูมิภาคเอเปก แต่ปรากฏว่ามีปัญหาทางเทคนิคว่ามันคืออะไร
ซึ่งคงต้องเจรจากันต่อไป" นายวีรชัยกล่าว
อีกประเด็นที่จะมีการหารือกันคือ การผลักดันการเจรจารอบโดฮา
ซึ่งจะมีการออกแถลงการณ์ผู้นำเอเปก
เพื่อสนับสนุนการเจรจาในเดือนกันยายนนี้ที่เจนีวา
ถ้าทำให้การเจรจาจัดทำกรอบการเจรจา (modalities) สินค้าเกษตร
และสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าเกษตร (NAMA) ผ่านไปได้
หัวข้ออื่นคาดว่าจะไม่มีปัญหา
สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าดีกว่าช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีการประชุมกลุ่ม G-4
ทำให้ปรากฏชัดว่า ให้มีการประชุมที่เจนีวา และหลายประเทศเสนอให้มี middle
ground proposal ซึ่งเป็นพื้นฐานให้ประธานเจรจากลุ่มสินค้าเกษตร
และไม่ใช่สินค้าเกษตร
นำไปใช้เป็นพื้นฐานในกรอบการเจรจาซึ่งจะมีการหารือกันที่เจนีวาในเดือนกันยายนนี้
การประชุมผู้นำเอเปกในช่วงต้นเดือนกันยายนถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม
ในการที่จะส่งสัญญาณไปยังประเทศสมาชิก WTO อื่นๆ ว่า
ควรจะเร่งเจรจารอบโดฮาให้มีความคืบหน้าให้ได้
ทั้งนี้ประเทศสมาชิกเอเปกหลายประเทศเป็นสมาชิกที่สำคัญของ WTO ขาดเพียงสหภาพยุโรป
แต่เชื่อว่าสมาชิกเอเปกจะสามารถกระตุ้นให้ทะลุกรอบที่ เจนีวา
หากทะลุกรอบได้ที่เจนีวา พรรคเดโมแครตซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาสหรัฐจะต่ออายุกฎหมายให้อำนาจในการเจรจาการค้า
หรือ trade promotion authority (TPA) ให้กับประธานาธิบดีสหรัฐ
ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจรจารอบโดฮา แต่ถ้าการเจรจาที่เจนีวาไม่คืบหน้า
พรรคเดโมแครตจะไม่ต่ออายุให้กับ TPA
"เอเปกหวังว่าแถลงการณ์ฉบับนี้จะช่วยกระตุ้นให้สมาชิก WTO เร่งเจรจารอบโดฮา
แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการเจรจารอบโดฮาอาจจะต้องยืดเยื้อต่อไปอีกนาน
เพราะถึงแม้จะสามารถผลักดันให้ประเทศสมาชิก WTO ยอมรับ
modalities สินค้าเกษตรและสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าเกษตรได้
แต่ยังต้องมีการเจรจาต่อในอีกหลายหัวข้อ
ซึ่งแม้แต่ละหัวข้อจะไม่มีความขัดแย้งมากเท่าสินค้าเกษตรและไม่ใช่สินค้าเกษตร
แต่ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง การเจรจาจึงจะสามารถปิดรอบลงได้"
นายวีรชัยกล่าว
นอกจากนี้ผู้นำเอเปกจะรับรองเอกสารผู้นำเรื่อง regional economic
integration
ซึ่งประเด็นนี้เป็นผลจากที่ผู้นำเอเปกในปีที่ผ่านมาให้ระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสไปศึกษาว่า
เอเปกจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เป้าหมายคือ การจัดทำ FTA ภายในภูมิภาค
ซึ่งรายงานฉบับนี้เสร็จไปแล้ว 99% รายงานนี้สอดคล้องกับแนวคิดของทุกฝ่าย
ซึ่งเอเปกเห็นพ้องกันว่า FTA APEC มีความเป็นไปได้
แต่ต้องเป็นเป้าหมายในระยะยาว
เป้าหมายระยะสั้นในขณะนี้ คือ การผลักดันการเจรจารอบโดฮา
เป้าหมายระยะกลางคือ เป้าหมายโบกอร์
ที่ต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วเปิดเสรีภายในปี 2010 ส่วนประเทศกำลังพัฒนา
เปิดเสรีภายในปี 2020 ส่วนระยะยาวคือ การเปิดการค้าเสรีในภูมิภาคเอเปก
ผู้นำเอเปกจะหารือถึงประเด็นข้อตกลงไม่รับสมาชิกใหม่ซึ่งกำลังจะหมดอายุลง
และมีประเทศที่ให้ความสนใจจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่
กัมพูชา, อินเดีย, ปากีสถาน, มาเก๊า, มองโกเลีย, คอสตาริกา, ปานามา,
โคลัมเบีย, ศรีลังกา, เอกวาดอร์ ซึ่งหากเอเปกเปิดรับสมาชิกใหม่ อาเซียนทั้ง
7 ประเทศจะสนับสนุนให้กัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกใหม่
ส่วนออสเตรเลียจะสนับสนุนอินเดีย
หน้า 10 |