|
สสว.
เผยผลจับคู่ธุรกิจระหว่างนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการนวัตกรรม
เพื่อแปรงานวิจัยสู่แผนธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์
จาก 10 ผลงานนำร่อง
เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สู่ท้องตลาด
นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(สสว.)
เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจนวัตกรรม
ระหว่างนักนวัตกรรมและผู้ประกอบการนวัตกรรม
ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ว่า
งานดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก สสว.
โดยโครงการเครือข่ายการส่งเสริมนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพาณิชย์
ได้ร่วมกับศูนย์พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีรัฐร่วมเอกชน
และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดำเนินโครงการศึกษาผลงานวิจัยและสิทธิบัตรเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์
เมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา
โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์ของความร่วมมือดังกล่าว
คือ
การจัดทำแผนธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์จากงานวิจัย
หรือจากหิ้งสู่ห้าง
เพื่อนำผลงานวิจัยมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม
เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs
สามารถนำไปขยายผลและลงทุนเชิงธุรกิจต่อไป
ผอ.สสว. กล่าว
จากความร่วมมือดังกล่าว
ได้นำไปสู่ความสำเร็จในการแปลงผลงานวิจัย
มาสู่แผนธุรกิจนวัตกรรม จำนวน 10
แผนธุรกิจ ประกอบด้วย 1.อาหารกุ้งจากสาหร่ายชิโซะ
2.Wi-Fi Public Telephone Box 3.ป้ายโฆษณากลางแจ้ง
LED Trivision 4.เครื่องคัดแยกสีเมล็ดข้าว
5.Binders
สำหรับอุตสาหกรรมผลิตยาจากเยื่อไม้ 6.น้ำผลไม้เพื่อสุขภาพสกัดสารสำคัญจากเปลือกมังคุด
7.ซุปก้างปลาสกัดแคลเซียมสูง
8.Difference Mellow Mask
แผ่นไฮโดรเจลมาส์กหน้า 9.Requirement
Serve Engine (RSE) และ 10.การผลิตหัวเชื้อปุ๋ยจุลินทรีย์ด้วยถังหมักระบบอากาศลอยตัว
สำหรับแผนธุรกิจนวัตกรรมข้างต้นนี้
ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการและนักลงทุนนวัตกรรมเพื่อนำผลงานดังกล่าวไปดำเนินการในเชิงธุรกิจแล้วถึง
8 แผนธุรกิจ อาทิ
อาหารกุ้งจากสาหร่ายชิโซะ ซึ่ง ดร.วิเชียร
ยงมานิตชัย ภาควิชาจุลชีววิทยา
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้คิดค้น
โดยมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมดำเนินการ
คือ คุณชัชวาลย์ จรัสวศินกุล บริษัท
เมษาคอร์เปอเรชั่น จำกัด
ส่วนแผนธุรกิจของผลงาน
ป้ายโฆษณากลางแจ้ง LED Trivision และ
Wi-Fi Public Telephone Box
ที่ผู้คิดค้นคือ อ.ปัญญา
เหล่าอนันต์ธนา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ นั้น
คุณสุวิทย์ เริงวิทย์ บริษัท เวอธ
อินโนเวชั่น จำกัด และ คุณเฉลิมลาภ
ศักดาปรีชา บริษัท นะโม จำกัด
เป็นผู้ประกอบการที่สนใจร่วมดำเนินการ
ตามลำดับ
กิจกรรมการจับคู่ธุรกิจนวัตกรรมในครั้งนี้
เป็นข้อพิสูจน์ถึงความสำเร็จร่วมกันระหว่างนักนวัตกรรมและผู้ประกอบการนวัตกรรม
ในส่วนของ สสว.
ในฐานะผู้ส่งเสริมด้านนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์
ก็จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้ผู้ประกอบการนวัตกรรม
ก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จอย่างราบรื่นต่อไป
ผอ.สสว. กล่าว
อย่างไรก็ดีจากการที่ สสว.
เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนั้น
เป็นส่วนช่วยให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจปัจจุบันให้เติบโตและยั่งยืน
จึงได้ดำเนินนโยบายการส่งเสริมผู้ประกอบการ
SMEs ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดยดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านนวัตกรรมหลายโครงการ
ซึ่งโครงการเครือข่ายการส่งเสริมนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์
ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จของ
สสว.
ในการผลักดันและส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม |