ในอดีตเราอุปมาอุปมัยให้ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ
เพราะ ชาวนาปลูกข้าวให้เรากิน
และยังส่งออกนำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก
และไทยยังส่งออกข้าวติดอันดับโลกด้วย
แต่มาวันนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจประเทศไทยต้องพึ่งพิงรายได้จากการส่งออก
ซึ่งสูงกว่า 60% ของ GDP ประเทศไทย
หลายวันก่อนหนังสือพิมพ์หลายฉบับพูดถึงการส่งออกในเดือนกรกฎาคม
2550 ไว้เสียน่าตกใจ
ว่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9
นับว่าเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 29 เดือน
นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่ผ่านมา
ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 5.8
แต่ต้องขอย้ำว่ายังขยายตัวอยู่นะครับ ไม่ได้หดตัว
โดยส่งออกได้ 11,810.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนในรูปของเงินบาท มีมูลค่า 406,149.9 ล้านบาท
ลดลงร้อยละ 4.6 เป็นการลดลงเดือนแรก แต่ในช่วง 7 เดือนแรก
ก็ยังส่งออกได้ถึง 83,409.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงร้อยละ
16.6 คิดเป็นร้อยละ 57.1 ของเป้าส่งออกทั้งปี
ก็ยังสูงกว่าที่ประมาณการไว้ทั้งปีที่ร้อยละ 12.5
ผมถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
สาเหตุที่การส่งออกในเดือนกรกฎาคม
ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
มาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลง
รวมทั้งปัญหาความผันผวนจากอัตราแรกเปลี่ยนในช่วงปีที่ผ่านมา
แต่ก็ต้องชมผู้ส่งออกไทยที่มีการปรับตัวรับปัญหาได้ดีระดับหนึ่ง
ซึ่งประเทศไทยเองพยายามจะหาตลาดใหม่ๆ เพื่อส่งออกเพิ่ม
โดยปัจจุบันสัดส่วนตลาดหลักอยู่ที่ร้อยละ 54.6
และตลาดใหม่อยู่ที่ร้อยละ 45.4
และอีกไม่นานคงจะอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 50 ต่อ 50
ถ้าเราสังเกตให้ดีสินค้าไทยที่ส่งออกไปในช่วงเดือนกรกฎาคม
และในรอบ 7
เดือนแรกของปีนี้เกือบทุกสินค้ามีอัตราการขยายตัวทั้งสิ้น
สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรสำคัญ
ส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการ
สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าว
(ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และ 19.6)
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ
29.9 และ 34.8) สินค้าอาหาร (ปริมาณและมูลค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ
5.3 และ 12.2) และน้ำตาล (ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ
188.3 และ 157.2)
สำหรับสินค้าที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณลดลง คือ
ยางพารา มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 แต่ปริมาณลดลงร้อยละ
1.5
สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกเพิ่มขึ้น
ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 15 ได้แก่
ยานยนต์และส่วนประกอบวัสดุก่อสร้าง (เหล็กและเหล็กเส้น)
ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์และกระดาษ เครื่อง สำอาง
ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ และของเล่น
สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15 ได้แก่
เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์
เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้เดินทางและเครื่องหนัง/
รองเท้า สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นต่ำกว่าร้อยละ 10 ได้แก่
สิ่งทอ อัญมณี และเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์
และเครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่งบ้าน
สินค้าอื่นๆ
ที่สำคัญและส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์
เครื่องจักรกล ส่วนประกอบเลนส์
ส่วนประกอบของอากาศยานและอุปกรณ์การบิน และทองแดง
เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1, 41.4, 29.9, 54.3 และ 46.7 ตามลำดับ
ตลาดการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่คิดเป็นร้อยละ
10.7 และ 24.7 ตามลำดับ
ตลาดหลักที่ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่อง ได้แก่
สหภาพยุโรปร้อยละ 20.9 อาเซียนร้อยละ 12.9
และญี่ปุ่นร้อยละ 12.9 ยกเว้นตลาดสหรัฐที่ลดลงเล็กน้อย
ร้อยละ 2.0 ส่วนตลาดใหม่ที่ขยายตัวตั้งแต่อินเดีย (66%)
ยุโรปตะวันออก (61.3%) ออสเตรเลีย (35.8) ตะวันออกกลาง
(34.6%) ละตินอเมริกา (31.8%) แอฟริกา (31.1%) จีน (26.1%)
และอินโดจีน (19.7%) ล้วนขยายตัวทุกตลาด
เราลองมามองในมุมการนำเข้าในเดือนกรกฎาคมบ้าง อยู่ที่
11,599.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.4%
และการนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 77,693.4
ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.1%
เพียงช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่งผลให้ไทยเกินดุลในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 211.0
ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 7 เดือนแรกเกินดุลอยู่ที่
5,716.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
ซึ่งขาดดุลการค้าอยู่ที่ 2,385.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากตัวเลขการส่งออกและนำเข้าของไทยในขณะนี้
ผมว่ายังถือว่าเราไปได้ดีอยู่
ไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลการค้าอย่างมาก
ถ้ามองวิกฤตเป็นโอกาสเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าเราก็อาจจะถือเป็นช่วงเวลาที่ควรจะสั่งสินค้าประเภททุนหรือวัตถุดิบเข้ามาเตรียมไว้
ก็จะได้รับต้นทุนที่ต่ำกว่า
เวลานี้ผู้ส่งออกอาจจะกำไรน้อยลงไปบ้าง
คงต้องอดทนเอาหน่อยนะครับ
ถึงเวลาเมื่อเงินบาทแข็งค่าถึงที่สุดแล้ว
ก็ต้องอ่อนลงซักวันหนึ่งแน่นอนครับ