"World of Muslim 2007"คึก ผู้ประกอบการ200รายร่วมงาน |
นายขวัญชัย โหมดประดิษฐ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า จากการที่ สสปน.ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานร่วมจัดงาน "World of Muslim 2007" ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่าง วันที่ 7-9 กันยายน 2550 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานีนั้น ล่าสุดนี้ผลตอบรับจากบรรดาผู้เข้าร่วมงาน World of Muslim 2007 เพื่อแนะนำบริษัทต่อกลุ่มประเทศมุสลิม มีผู้ประกอบการธุรกิจประเภทต่างๆ ของไทยเป็นจำนวนมากให้ความสนใจเข้าร่วมออกบูทภายในงานกว่า 200 ราย ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยประกอบด้วยบริษัทผู้ประกอบการด้านอาหาร สถาบันการเงิน โรงพยาบาล สายการบิน โรงแรม ท่องเที่ยว สถานทูต สถาบันการศึกษา สถาบันเอสเอ็มอี มีเดีย โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านธุรกิจอาหาร ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลามแล้ว มีสัดส่วนเกินครึ่งของผู้เข้าร่วมงาน อาทิ ซี.พี.กรุ๊ป พรานทะเลมาร์เก็ตติ้ง ซีแวลู มาลีเอ็นเตอร์ไพรซ์ มาลินีฟู้ดแอนด์เอ็นเตอร์ไพรซ์ กรีนสปอต ทิปโก้ฟู้ดแอนด์เบฟเวอร์เรจ ไทย อะกริฟู้ดส์ หยั่น หว่อ หยุ่น มรกตอินดัสตรี้ พิบูลย์ชัย แม่ประนอม ฯลฯ รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสถาบันเอสเอ็มอีด้วย นอกจากงานแสดงสินค้าของผู้ประกอบการแล้ว สิ่งที่สำคัญและน่าสนใจภายในงาน World of Muslim 2007 คือ ส่วนการจัดประชุมในรูปแบบ Thailand Day การนำเสนอข้อมูลและศักยภาพความพร้อมของประเทศไทย โดยการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงและองค์กรต่างๆ ร่วมมือกันนำเสนอข้อมูลของประเทศไทยให้ประเทศมุสลิมได้รับทราบ โดยเฉพาะจุดเด่นที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ฮาลาล, ธุรกิจการดูแลสุขภาพ, การท่องเที่ยว การเงิน ฯลฯ เช่น การสัมมนาเรื่องแนวทางการผลิตอาหารฮาลาล สำหรับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร โอกาสทางการค้าธุรกิจฮาลาลในยุคเศรษฐกิจใหม่ ทำธุรกิจกับมุสลิมอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เป็นต้น และอีกกรณีศึกษาหนึ่งที่สนใจ คือ บูทของ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล คณะสหเวชศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยงานสำคัญที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับและสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ระบบฮาลาล รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งในตลาดอาหารฮาลาลประมาณ 330 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.057% ขณะที่ตลาดอาหารฮาลาลของกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมของโลกมีมูลค่ากว่าแสนล้านเหรียญ ฉะนั้นยังมีโอกาสอีกมากของผู้ประกอบการไทย เฉพาะอย่างยิ่งอาหารฮาลาลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงโลกของมุสลิมเท่านั้น ผู้ไม่ใช่มุสลิมก็สามารถรับประทานได้ อีกทั้งผู้ผลิตอาหารฮาลาลก็ไม่จำเป็นต้องเป็นมุสลิม จึงอยากให้ผู้ประกอบการที่สนใจอยากเปิดโลกเปิดตลาดมุสลิมให้มาดูงานนี้เพื่อต่อยอดไอเดียสร้างธุรกิจ นายขวัญชัยย้ำว่า งานนี้ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมแล้วที่จะเปิดประตูการค้าสู่ประเทศมุสลิม นับเป็นการจุดประกายให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับรัฐบาล เอกชน จนถึงระดับรากหญ้า ด้วยการที่ประเทศไทยมีหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยีอย่างศูนย์วิทยาศาสตร์ ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใน ขณะเดียวกันไทยเองก็มีธุรกิจที่พร้อมสำหรับการลงทุนของชาวมุสลิม อาทิ ธุรกิจโรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพ การเงิน และอาหาร รวมทั้งยังมีหน่วยงานของมุสลิมที่ให้การสนับสนุนการลงทุน เช่น ธนาคารอิสลาม และกองทุน Sakad ที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เช่นกัน |
ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3928 (3128) |
|