ผู้ผลิตผ้าผืนสุดทน
จีนหนีมาตรการเซฟการ์ดสหรัฐ หันมาทุ่มตลาดผ้าผืนไทยแทน
ด้วยราคาขายที่ต่ำกว่าผ้าผืนไทยถึง 40%
ส่งผลโรงงานผ้าผืนไทยอยู่ไม่ได้จนสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์
ขอให้เปิดสอบ AD/CVD แฉบางรายการนำเข้าพุ่งกว่า 300%
ผู้ส่งออกโอดสู้ไม่ไหวต้องลดสัดส่วนจากขายในประเทศหันไปส่งออกก็ยังเจอปัญหาบาทแข็งจนขาดทุนยับ
ล่าสุดปิดโรงทอไป 5 แห่งแล้ว
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า
เมื่อเร็วๆ นี้นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย
ได้ทำหนังสือถึงกรมการค้าต่างประเทศ
ขอให้เปิดดำเนินการไต่สวนเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด (anti dumping หรือ AD)
กับเพื่อต่อต้านการอุดหนุนสินค้า (CVD) ผ้าผืน 3 รายการ คือ ผ้าฝ้าย (พิกัด
5208.12.0001, 5208.11.0000) กับผ้า T/C (พิกัด 5513.11.0003)
ที่นำเข้าจากประเทศจีน ตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด
พ.ศ.2542
โดยสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยได้ตรวจสอบเบื้องต้น
ทั้งปริมาณการนำเข้าผ้าผืนทั้ง 3 รายการ-ราคานำเข้าผ้า
พบว่าผ้าผืนจากจีนได้สร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายในตามที่ 4
บริษัทผู้ผลิตผ้าผืนไทยซึ่งมีกำลังการผลิตคิดเป็นร้อยละ 50
มีหนังสือร้องเรียนมายังสมาคม และมีมติจากสมาชิกสมาคมเห็นชอบให้ฟ้อง 7
บริษัทและไม่คัดค้านการฟ้องอีก 16 บริษัท
ทั้งนี้สมาคมต้องการให้มีการตรวจสอบในเรื่องของการเสนอราคาผ้าผืนให้กับผู้นำเข้าในประเทศกับต้นทุนการผลิตภายในประเทศ
พบว่าราคา C.I.F. ของผ้า T/C เท่ากับ 16.989 บาท/หลา (0.47 เหรียญสหรัฐ)
เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับต้นทุนและปัจจัยการผลิตในประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 23.50
บาท/หลา เท่ากับว่าผ้า T/C มีต้นทุน "ต่ำกว่า" ต้นทุนการผลิตภายในประเทศ
6.51 บาท/หลา หรือคิดเป็นส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดของสินค้าชนิดนี้ร้อยละ
40.35
ขณะที่ผ้าฝ้ายอีก 2 พิกัด คือ ผ้าฝ้ายชนิดแรก (5208.12.0001) มีราคา C.I.F.เท่ากับ
18.07 บาท/หลา (0.50 เหรียญสหรัฐ) "ต่ำกว่า" ราคาในประเทศซึ่งอยู่ที่ 28
บาท/หลา อยู่ถึง 9.93 บาท/หลา หรือคิดเป็นร้อยละ 56.83
และผ้าฝ้ายชนิดที่สอง (5208.11.0000) มีราคา C.I.F.เท่ากับ 21.898 บาท/หลา
(0.605 เหรียญสหรัฐ) "ต่ำกว่า" ราคาในประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 29 บาท/หลา
อยู่ถึง 7.10 บาท/หลา หรือคิดเป็นร้อยละ 34.32
"การตั้งราคาที่ต่ำมากจนส่งผลให้ตัวเลขการนำเข้าผ้าทั้ง 3
พิกัดจากจีนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จากสถิติของกรมศุลกากร ระบุว่า
การนำเข้าในปี 2548 เปรียบเทียบกับปี 2549 ของผ้า T/C
จากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 302.72 จาก 1,370 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 4,148 ตัน
หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.76 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด โดยราคาผ้า T/C
จากจีนปี 2549 เท่ากับ 101.08 บาท/กิโลกรัม ลดลงจากปี 2548 ถึง 8.10 บาท/กิโลกรัม
ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 115.58 บาท/กิโลกรัม"
รายงานข่าวระบุ
ส่วนผ้าฝ้ายอีก 2 พิกัดก็มีปริมาณการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
โดยผ้าฝ้ายชนิดแรก (5208.12.0001) มีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.5
จาก 4,187 ตัน เป็น 5,924 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 96.64
ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด โดยราคาผ้าฝ้ายชนิดนี้จากจีนเท่ากับ 68.77 บาท/กิโลกรัม
"ต่ำกว่า" ราคา C.I.F. นำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 76.44 บาท/กิโลกรัม
ส่วนผ้าฝ้ายชนิดที่สอง (5208.11.0000) มีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ
60.09 จาก 8,520 ตัน เพิ่มเป็น 13,639 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 97.79
ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด โดยราคาผ้าฝ้ายชนิดที่สองปี 2549 เท่ากับ 107.41
บาท/กิโลกรัม "ต่ำกว่า" ราคา C.I.F. เฉลี่ยจากทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 108.20
บาท/กิโลกรัม
ล่าสุดตัวเลขการนำเข้าผ้าในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2550 จากจีน
ในพิกัด 5208.12 (ผ้าฝ้าย) ปริมาณ 5,493.153 ตัน
เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีการนำเข้า 3,187.720
หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.33 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.36 ของการนำเข้าทั้งหมด
และราคาก็ลดต่ำลงกว่าปีก่อน จาก 18.51 บาท/กิโลกรัม เหลือ 16.40 บาท/กิโลกรัม
ส่วนผ้าพิกัด 5513.11 (ผ้า T/C) นำเข้า 966.83 ตัน
เพิ่มขึ้นจากเดิมที่นำเข้า 900.30 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.739
คิดเป็นสัดส่วน 49.53 ของการ นำเข้าทั้งหมด และมีราคาต่ำลงกว่าปีก่อนจาก
115.50 บาท/กิโลกรัม เหลือ 101.62 บาท/กิโลกรัม
และมีแนวโน้มนำเข้าผ้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกเดือน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการผ้าผืนไทยทั้ง 4
รายได้เสนอข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้น โดย 2
บริษัทแรกแจ้งว่ามีกำลังการผลิตระหว่าง 20 ล้านหลา/ปีเหมือนกัน
โดยรายแรกตั้งเป้าขายในประเทศ 12 ล้านหลา/ปี แต่ขายได้เพียง 300,000 หลา/ปี
เสียส่วนแบ่งการตลาดไปร้อยละ 97.5 ทำให้ต้องหันไปส่งออก
แต่ก็เจอปัญหาบาทแข็งทำให้ขาดทุน 4,805,000 บาท ส่วนบริษัทที่ 2
ตั้งเป้าจะขายภายในประเทศ 3.6 ล้านหลา แต่ขายได้เพียง 146,388 หลา
หรือแค่ร้อยละ 5.69 ของปริมาณการผลิต และหันไปส่งออกจนขาดทุน 16
ล้านบาทเช่นเดียวกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้บริษัทนี้มีกำไรมาตลอด
ส่วนรายที่ 3 มีกำลังการผลิต 3.9 ล้านหลา/ปี ขายในประเทศได้เพียง 605,000
หลา หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของกำลังการผลิต เมื่อหันไปส่งออกก็ขาดทุน 26.6
ล้านบาท บริษัทที่ 3 มีกำลังการผลิต 5.1 ล้านหลา/ปี ขายได้ 260,000 หลา
หรือร้อยละ 5.61 ของกำลังการผลิตทั้งที่ตั้งเป้าจะขายในประเทศทั้งหมด
จึงต้องหันไปส่งออก แต่ก็ยังมีปัญหาสินค้าคงเหลือจากปลายปี 2549 อีกร้อยละ
30.54
"สาเหตุที่ทำให้จีนต้องหันมาส่งออกสินค้าสิ่งทอมาทุ่มตลาดในครั้งนี้เป็นเพราะจีนต้องเจอปัญหาการใช้มาตรการป้องกันการนำเข้า
(เซฟการ์ด) จากประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศ เช่น สหรัฐ, ตุรกี เป็นต้น
จึงเกิดปัญหาปริมาณสินค้า over supply ไม่สามารถขยายไปตลาดอื่นได้
จึงต้องหันมาระบายผ้าออกไปยังตลาดเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย" รายงานข่าวระบุ
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ"
ว่า หากมีการไต่สวน AD และ CVD
ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการได้
แต่หากรัฐบาลไม่ดำเนินการไต่สวนคิดว่าผู้ประกอบการผลิตผ้าภายในประเทศจะต้องประสบวิกฤตอย่างร้ายแรง
ไม่สามารถแข่งขันกับผ้าผืนจากจีนได้
และขณะนี้ก็มีผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมได้ปิดกิจการไปแล้ว 5 ราย
และกำลังจะทยอยปิดอีกหลายราย
ส่วนรายใหญ่ก็ลดกำลังการผลิตลงเพราะตลาดผ้าร้อยละ 98
ถูกสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาแย่งตลาด
หน้า 9
|