เปิดม่านประชุม"เอเปค"ที่ออสเตรเลีย
"จัดประชุม"หรือว่า"รับมือข้าศึก"
ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค)
ระหว่างวันที่ 2-9 กันยายน ในนครซิดนีย์
โดยในช่วงแรกเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง
ส่วนการประชุมระดับผู้นำจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน
หัวข้อสำคัญการประชุม
- ภาวะโลกร้อน ออสเตรเลีย ในฐานะเจ้าภาพกำหนดให้ปัญหา "โลกร้อน"
เป็นประเด็นสำคัญอันดับต้นๆ ในการประชุมครั้งนี้
โดยหวังว่าที่ประชุมอาจสามารถบรรลุฉันทามติร่วมกันก่อนที่จะมีการประชุมปัญหาโลกร้อนของสหประชาชาติ
(ยูเอ็น) ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซียในเดือนธันวาคมนี้
โดยออสเตรเลียต้องการให้ระดับผู้นำของชาติสมาชิกเอเปคเห็นด้วยกับเป้าหมายระยะยาวที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน
ขณะเดียวกันเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ตลอดจนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมก็จะถูกนำมาเจรจาหารือด้วย
- การค้า เนื่องจากสมาชิกเอเปค มีขนาดการค้าเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
ดังนั้นเอเปคหวังจะใช้ที่ประชุมครั้งนี้ในการผลักดันเพื่อให้การค้าเสรีรอบใหม่ขององค์การการค้าโลก
(ดับเบิลยูทีโอ) ที่เรียกว่า "รอบโดฮา" เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
หลังจากติดหล่มมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว
เพราะสมาชิกดับเบิลยูทีโอไม่สามารถตกลงเห็นพ้องเรื่องการลดภาษีและการอุดหนุนสินค้าเกษตรกันได้
เนื่องจากการประชุมเอเปคครั้งนี้ประเทศที่มีบทบาทสำคัญที่จะชี้ชะตารอบโดฮา
ได้มาร่วมประชุมด้วย โดยซีกประเทศพัฒนาแล้วได้แก่ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
ส่วนซีกประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญได้แก่ เม็กซิโก จีน
- ความเป็นสมาชิกเอเปค
ที่ประชุมจะมีการพิจารณารับสมาชิกใหม่หรือไม่หลังจากพ้นช่วงงดรับสมาชิกใหม่มา
10 ปี เช่นจะพิจารณาว่าจะรับอินเดียเป็นสมาชิกหรือไม่หรือจะแบนต่อไป
ทั้งนี้ มีหลายประเทศที่ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิก
- ความมั่นคงภูมิภาคและโลก
ที่ประชุมจะกำหนดกรอบพื้นฐานของการประชุมทวิภาคีเกียวกับปัญหาก่อการร้ายและความมั่นคง
โดยจะถือเป็นการประชุมข้างเคียง (sideline) ทั้งนี้
คาดว่าจะมีการประชุมเจรจา 6 ฝ่าย เกี่ยวกับปัญหาเกาหลีเหนือ,
ปัญหาการเพิ่มกำลังทางทหารของจีน นอกจากนี้ก็จะมีปัญหาอิรัก อิหร่าน
และอัฟกานิสถาน
- ความมั่นคงของมนุษย์
ที่ประชุมจะมีการหารือเรื่องความพร้อมและยุทธศาสตร์ในการรับมือการระบาดของโรค,
การรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ อันเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์
สมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ
เอเปค ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) มีสมาชิก 21
เขตเศรษฐกิจ ทั้งจากแถบเอเชีย-แปซิฟิก และจากภูมิภาคอื่น ประกอบด้วย
ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี แคนาดา เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ชิลี
เปรู รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บรูไน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย
มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์
สาเหตุที่เรียกสมาชิกว่า "เขตเศรษฐกิจ" แทนที่จะเรียกว่าประเทศ
ก็เพราะว่ามีสมาชิกบางราย อาทิ ไต้หวันและฮ่องกง ไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศ
เป็นเพียงเขตปกครองหนึ่งของจีน
หากเรียกว่าประเทศจะทำให้จีนไม่พอใจและอาจมีปัญหาทางการเมืองได้
สมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกัน 41%
ของประชากรโลกและมีขนาดเศรษฐกิจ รวมกันประมาณ 56%
ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของทั้งโลก
สีสัน(ที่อาจไม่น่าอภิรมย์)ของเอเปค
ฮือฮาก่อกำแพงกันประท้วง
- รัฐบาลออสเตรเลีย
สั่งเตรียมการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาและครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ออสเตรเลียเคยมีมา
เพื่อป้องกันการก่อการร้ายและป้องกันนักประท้วง
เนื่องจากการประชุมครั้งนี้จะมี "แม่เหล็ก"
ที่ดึงดูดการก่อการร้ายและดึงดูดผู้ประท้วง อย่างประธานาธิบดีบุช
มาประชุมด้วย
เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และสร้างความไม่พอใจให้กับชาวเมืองซิดนีย์มากที่สุดก็คือ
การที่รัฐบาลสั่งให้มีการสร้างกำแพงคอนกรีตและรั้วเหล็กความสูง 3 เมตร
ความยาว 5 กิโลเมตร รอบบริเวณศูนย์กลางธุรกิจของซิดนีย์ทั้งหมด
รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างอ่าวดาร์ลิ่ง, โอเปรา เฮาส์,
เซอร์คูลาร์ เควย์" โดยกำหนดให้เป็นเขตควบคุม
ซึ่งเปิดโอกาสให้คนเดินเท้าผ่านไปได้ แต่ต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียด
คนซิดนีย์โวยวายว่าเป็นการดูถูกพวกตนอย่างยิ่ง เพราะทำเหมือนกับสวนสัตว์
พร้อมกับบอกว่าช่วงประชุมเอเปค
เป็นช่วงที่ผู้คนควรหลีกเลี่ยงมาซิดนีย์ให้มากที่สุด
บางคนเรียกรั้วเหล็กและคอนกรีตที่สร้างขึ้นว่า "เดอะ เกรท วอลล์ ออฟ เอเปค"
หรือมหากำแพงแห่งเอเปค ซึ่งเลียนคำมาจากกำแพงเมืองจีนนั่นเอง
สื่อเมืองจิงโจ้ขนานนามสภาพที่เกิดขึ้นว่า "ป้อมปราการแห่งซิดนีย์"
ซึ่งเป็นการเสียดสีว่า
นี่เป็นการจัดประชุมหรือว่าเป็นการสร้างป้อมปราการเพื่อรับมือข้าศึกกันแน่
บังคับนักท่องเที่ยวลบรูปออกจากกล้อง
- หนังสือพิมพ์ ดิ ออสเตรเลียน รายงานว่า ซิดนีย์กลายเป็นเมือง "ประสาท"
หวาดวิตกไปแล้ว เพราะจะเห็นตำรวจยืนประจำอยู่ทุกหัวมุมถนน
รวมทั้งนักท่องเที่ยวต้องถูกสอบปากคำและถูกบังคับให้ลบรูปออกจากกล้องฐานไปถ่ายรูป
"รั้วเหล็ก" ที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อรองรับการประชุมเอเปค
โทมัส แกนนอพพ์ นักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน
ถูกตำรวจบังคับให้ลบรูปรั้วที่เขาถ่ายไว้ด้วยกล้องดิจิตอล
โดยตำรวจบังคับให้เขาทำการลบเดี๋ยวนั้นต่อหน้าตำรวจ
นอกจากนี้ยังถูกสอบปากคำเป็นเวลา 25 นาที
พร้อมกับถูกตรวจสอบวีซ่าและเอกสารต่างๆ กับกองตรวจคนเข้าเมือง
"ผมไม่คาดหวังว่าจะเจอแบบนี้ เพราะแค่อยากถ่ายรูป ผมเคยเห็นรั้วแบบนี้รอบๆ
สถานทูตสหรัฐอเมริกาในเบอร์ลิน
แต่ผมไม่เคยคิดว่าจะเห็นแบบเดียวกันนี้ในออสเตรเลีย
มันคงเป็นเรื่องดีที่ผมจะนำไปบอกกล่าวกับคนในครอบครัวเมื่อกลับถึงบ้าน"
นักท่องเที่ยวเยอรมันรายนี้พูดแบบประชด
เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า
เหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพราะมีข้อมูลข่าวกรองว่ามีกลุ่มนักประท้วงแฝงตัวมาถ่ายรูปรั้ว
และอ้างว่านายแกนนอพพ์นั้นผิดปกติจากนักท่องเที่ยวทั่วไป
เพราะว่าถ่ายรูปรั้วใกล้เกินไปคือถ่ายแบบ โคลส-อัพ
นักถ่ายทำสารคดีอิสระ พิพ สตาร์ ชาวเมืองเมลเบิร์น ของออสเตรเลีย
ถูกยึดฟิล์มและถูกตรวจไดอารี่ส่วนตัว
พร้อมกับถูกสอบปากคำเพราะคิดว่าเขาเป็นนักประท้วง ซึ่งนายสตาร์บอกว่า "เป็นเรื่องน่าขนพองสยองเกล้าที่ผมถูกตำรวจตรวจไดอารี่ส่วนตัวเพียงเพราะถ่ายรูปถนนในซิดนีย์"
หน้า 20
ที่มา :มติชน
วันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10768
|