เอกชนของบปรับตัว25ล./ปีรับเจเทปา

 

      โพสต์ทูเดย์ — อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ขอปันเงิน 25 ล้าน จากกองทุนเอฟทีเอ นาน 3 ปี บรรเทาความเดือนร้อนจากเจเทปา

นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “ผลกระทบและการปรับตัวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ภายหลังการตกลง JTEPA” ว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ จะยื่นขอเงินสนับสนุน 25 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี จากโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี (FTA Fund)

งบดังกล่าวจะนำมาจ้างผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น 8-10 คน มาช่วยฝึกอบรมและพัฒนาเทคโนโลยีให้ โดยเฉพาะการพัฒนาแม่พิมพ์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำเร่งด่วน คือ เพิ่มผลิตภาพในการผลิตให้ได้ปีละ 5% และลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงให้เหลือ 0% จาก 5% ในปัจจุบัน

พร้อมทั้งสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนปี 2555 ตามเป้าหมาย เพราะในปี 2558 ประเทศไทยจะผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน คิดเป็น 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในเอเชีย

นายถาวร กล่าวว่า ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือเจเทปา ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ย.นี้ ไม่ได้ส่งผลให้การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยไปญี่ปุ่นมีการขยายตัวโดยตรง

สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์คือ ความร่วมมือในด้านพัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในอุตสาห กรรม และการเข้ามาลงทุน จะเริ่มเห็นผลชัดในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้บางบริษัทยังใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ไม่เต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความตื่นตัวมากขึ้น มีการคิดใหม่ ทำใหม่ แทนการปรับตัวทีละน้อยเหมือนในอดีต

ขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ในปีนี้จะมีมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 12-13% ที่มีมูลค่า 2.5 แสนล้านบาท

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ผลกระทบในระยะสั้นจากเจเทปาก่อนที่การลดภาษีมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะไม่มีผลต่อการเพิ่มศักยภาพส่งออกชิ้นส่วนและอะไหล่มากนัก แต่จะมีผลดีในด้านการลดภาษีวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เช่น เหล็กรีดร้อน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง

ในส่วนของผลกระทบระยะยาว ทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์มีการแข่งขันสูงขึ้น เพราะกำแพงภาษีที่ลดลง อาจทำให้แรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนลดลง ไทยจะหมดโอกาสเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน

 

อีกทั้งขาดโอกาสในการผลิตชิ้นส่วนสำคัญหลักที่มีมูลค่าเพิ่มสูง หรือใช้เทคโนโลยีสูง และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเชื่อมโยง ทั้งในด้านการจ้างงาน การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี

 

 

ที่มา :โพสต์ทูเดย์    วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550