กรมการข้าวระบุจีเอ็มโอยังไม่จำเป็น เมล็ดพันธุ์ปลอมปนคือปัญหาใหญ่
 

30 สิงหาคม พ.ศ. 2550 13:08:00
 
กรมการข้าวระบุจีเอ็มโอในข้าวยังไม่จำเป็น ชี้ปัญหาใหญ่คือเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปน แต่ขาดอำนาจดูแล เตรียมเสนอรัฐบาลบรรจุเป็นวาระแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาข้าวทั้งระบบ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายวิทยา  ฉายสุวรรณ  รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวยืนยันปฏิบัติตามนโยบายรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะไม่ทดลองตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอกับพืชอาหารโดยเฉพาะข้าว แม้ว่ากระทรวงเกษตรฯ จะเตรียมเสนอครม.พิจารณาอนุมัติให้มีการทดลองวิจัยพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา

“ประเทศไทยมีเทคโนโลยีและนักวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ดีโดยใช้วิธีทางธรรมชาติในการแก้ปัญหาอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องตัดแต่งพันธุกรรม แต่ส่วนตัวมีความเห็นว่าการทดลองจีเอ็มโอทางด้านวิชาการเป็นเรื่องจำเป็น มิเช่นนั้นไทยอาจล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน ”

ปัญหาใหญ่ที่น่าเป็นห่วงกว่าจีเอ็มโอในเรื่องข้าวขณะนี้คือ พบว่ามีการแพร่ระบาด “เมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปน” โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากการใช้รถเกี่ยวนวดข้าวร่วมกันที่มีข้าววัชพืชติดไปด้วย ซึ่งขณะนี้พบการกระจายจากภาคกลางไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว รวมทั้งยังมีเอกชนหลายรายนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีพันธุ์ปลอมปนไปจำหน่ายกันอย่างกว้างขวาง แต่กรมการข้าวไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายพรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช เนื่องจากกรมการข้าวเพิ่งแยกตัวออกมาได้เพียง 1 ปีเศษ และกฎหมายดังกล่าวก็ยังตกค้างอยู่กับกรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  

อย่างไรก็ตามได้ยื่นหนังสือเร่งด่วนไปยังกระทรวงเกษตรและสหรณ์แล้วเพื่อเสนอขอให้มีการออกประกาศกฎกระทรวง แต่งตั้งให้เจ้าหน้าที่ของกรมการข้าวมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อออกสุ่มตรวจเมล็ดพันธุ์ ตักเตือนและดำเนินการตามกฎหมายได้ ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับกรมวิชาการเกษตร พร้อมเตรียมเสนอปัญหาเรื่องข้าวต่อรัฐบาลเพื่อบรรจุเป็นวาระแห่งชาติในการพัฒนาเรื่องข้าวทั้งระบบแบบบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

นายวิทยากล่าวว่า การใช้เมล็ดพันธุ์ดีในการปลูกข้าว ถือเป็นหัวใจสำคัญอันดับหนึ่งของการสร้างผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพดี ต้นทุนต่ำ ขายได้ราคาสูง แต่กรมการข้าวยังขาดอำนาจในการควบคุมดูแลปัญหาปลอมปนเมล็ดพันธุ์ข้าว ขณะนี้ทำได้เพียงการรณรงค์ส่งเสริมความรู้เกษตรกรให้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี กรมการข้าวเองก็ยังติดปัญหาศักยภาพการผลิตที่ไม่พียงพอต่อความต้องการของเกษตรที่มีอยู่กว่า 9 แสนตันต่อปี โดยกรมฯทำได้เพียง 92,000 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 10 เท่านั้น อีกทั้งได้พยายามขยายข้าวพันธุ์ดีให้กับเกษตรกรเป็นเครือข่ายข้าวชุมชนให้เป็น 10,000 แห่งจากปัจจุบันมี 7,000 แห่ง ตามเป้าหมายของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ข้าว

“หากปล่อยให้ปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปนแพร่ระบาดจนควบคุมไม่ได้ และลุกลามถึงข้าวหอมมะลิที่ไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก จะส่งผลต่อผลผลิตข้าวคุณภาพดีโดยรวมของไทยลดลง จนกระทบตลาดส่งออก และพ่ายเวียดนามได้ในที่สุด” รองอธิบดีกรมการข้าวกล่าว

นางทัศนีย์ เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก กล่าวว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ปลอมปนมากับพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรปลูก หากเป็นข้าววัชพืชจะมีอัตราการขยายพันธุ์สูงถึง 200 เท่า และคอยแย่งปุ๋ยในนาข้าวจนทำให้ข้าวปลูกเมล็ดลีบ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ โรงสีกดราคารับซื้อ ซึ่งเกษตรกรเรียกพันธุ์ข้าวที่ปลอมปนนี้ว่า “ข้าวดีดข้าวเด้ง” โดยในระยะ 6 – 7 ปีมานี้ ยังมีวัชพืชใหม่ที่เหมือนข้าวปลูกจึงยากในการกำจัด พบการระบาดทั่วไปในนาหว่านน้ำตมภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง และกำลังแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้อาจจะทำลายเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้


 

ที่มา :กรุงเทพธุรกิจ    วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550