"อียู"ตีขรุมลดภาษี0%สินค้าITA
มีการพัฒนารูปแบบผสมผสาน |
สหรัฐค้านอียู
ตีความปฏิญญา ITA ไม่รวมสินค้าที่มีจอ LCD/วิดีโอ-สินค้าที่มีพรินเตอร์/
สแกนเนอร์/แฟกซ์รวมกัน-กล้องวิดีโอดิจิทัล
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชี้ หาก ITA ตีความแบบสหรัฐ
ไทยต้องลดภาษีลงเหลือ 0% เตือนผู้ผลิตสินค้าไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ภายใน
ประเทศเตรียมตัวรับมือ
แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
(สศอ.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า
ขณะนี้ได้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปฏิญญาว่าด้วยความตกลงเปิดเสรีสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ
(Information Technology Agreement หรือ ITA) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)
โดยสหภาพยุโรป หนึ่งในสมาชิกของ ITA เห็นว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ
ได้มีการพัฒนาสินค้าที่เป็นลักษณะรูปแบบผสมผสานมากขึ้น
และไม่เข้าข่ายที่จะลดภาษีตามข้อตกลงดังกล่าว
ที่จะต้องลดภาษีนำเข้าเหลือ 0%
จึงได้มีการประกาศปรับเพิ่มภาษีในสินค้าเทคโนโลยีที่อยู่แบบผสมผสานให้เพิ่มขึ้น
โดยสินค้าที่สหภาพยุโรปตีความไม่เข้าข่ายตามตกลง ITA
และได้ประกาศปรับเพิ่มภาษี อาทิ
สินค้าเกี่ยวกับจอแอลซีดีที่เดิมไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
แต่หากเป็นสินค้ามีการพัฒนาจอแอลซีดีและมีวิดีโออยู่ในตัวด้วย
จะถูกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 14%,
เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์จำพวกพรินเตอร์, สแกนเนอร์, แฟกซ์
แต่ละประเภทไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
แต่เมื่อมีการพัฒนานำการใช้งานของทุกอย่างมารวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน
(digital multifunction machines) จะต้องเสียภาษีเพิ่ม 6%
หรือกรณีของกล้องดิจิทัลที่เดิมเสียภาษีนำเข้า 0%
แต่เมื่อพัฒนาเป็นกล้องดิจิทัลที่ถ่ายภาพเคลื่อนไหว (video cameras)
จะต้องเสียภาษีเพิ่มเป็น 4.9% เป็นต้น
ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ สหรัฐในฐานะที่เป็นสมาชิก ITA ด้วย เห็นว่า
สิ่งที่สหภาพยุโรปตีความสินค้าและมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มนั้น
ไม่มีเหตุผล
เพราะการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศให้ดีขึ้นเป็นเรื่องที่ดีไม่น่าจะตีความ
จนสร้างภาระภาษีให้กับผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป
ซึ่งประเด็นที่เกิดขึ้น ทางสหรัฐจะนำสู่ที่ประชุมหารือในเวที WTO
รอบต่อไป
ในส่วนของประเด็นดังกล่าวนั้น มีผลต่อประเทศไทย 2 แง่มุม คือ 1)แง่มุมของสหภาพยุโรป
ซึ่งตีความเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นลักษณะรูปแบบผสมผสานมากขึ้น
จะมีการเก็บภาษีเพิ่ม ผลกระทบคือ
หากประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป
และเข้าข่ายตามที่สหภาพยุโรปตีความก็จะต้องเสียภาษีในการนำเข้าไปในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น
2)แง่มุมทางด้านสหรัฐ กล่าวคือ
การเรียกร้องของสหรัฐครั้งนี้อาจจะไม่ได้มีวัตถุประสงค์มุ่งไปที่สินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศเพียงอย่างเดียว
เป็นเกมการค้าที่มองอีกด้านว่าสหรัฐเรียกร้องให้ทุกสิ่ง
อย่างเข้าของสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ
ไม่ว่าจะมีการพัฒนารูปแบบผสมผสานหรือไม่
ก็ถือเป็นสินค้าที่เข้าข่ายข้อตกลงของ ITA ทั้งหมด ก็หมายความว่า
ถ้าหากอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ พลาสติก,
เคมีภัณฑ์ได้มีการพัฒนาผสมผสานไปในสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ
การส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกก็ต้องลดภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% ด้วย
"หากข้อเรียกร้องของสหรัฐประสบความสำเร็จ ประเทศไทยก็จะลำบาก
เพราะจะต้องเปิดตลาดรับสินค้าในกลุ่มดังกล่าวเข้ามาอีกมากมายโดยไม่ต้องเสียภาษี
บางรายการอาจจะกระทบกับผู้ผลิตภายในประเทศได้
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องรับทราบและเตรียมการรับมือไว้ในอนาคต
ทั้งนี้สหรัฐพยายามหาช่องทางจากข้อตกลง ITA
ในการขยายขอบเขตการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี
ซึ่งตรงนี้ก็ต้องดูท่าทีการประชุมเจรจาต่อรองในเวที WTO อีกครั้งหนึ่ง
ดูว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร" แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนั้น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
ได้รายงานสภาวะของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ว่า
ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปี 2550
การผลิตโดยรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงชะลอตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
3.26% เนื่องจากการชะลอตัวของตลาด
ในขณะที่การผลิตอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
22.63%
เนื่องจากความต้องการของตลาดโลกในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น
โดยแนวโน้มของอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2550)
คาดว่าอุตสาหกรรมจะปรับเพิ่ม 7.38%
เนื่องจากการขยายตัวของการผลิตและการส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศเป็นหลัก
สำหรับปฏิญญาว่าด้วยความตกลงเปิดเสรี สินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA)
เกิดขึ้นในการประชุมระดับรัฐมนตรี องค์การการค้าโลก ที่ประเทศสิงคโปร์
ในปี 2539 มีประเทศสมาชิก 29 ประเทศ ตกลงที่จะลดภาษีนำเข้าสินค้า IT
เป็น 0% และผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (MFN basis)
ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมความตกลง ITA เพิ่มขึ้นเป็น 70 ประเทศ
รวมทั้งไทย (นับสหภาพยุโรปเป็น 15 ประเทศ) คิดเป็นประมาณ 97%
ของการค้าสินค้า IT ของโลก
หน้า 8
ที่มา :ประชาชาติ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.
2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3927 (3127) |
|