นำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 7 เดือนทะลัก 17.75% แบรนด์เนม-เมดอินไชน่าพุ่งพรวด |
รายงาน
ปัญหาค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น
จนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 34-34.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
นอกจากจะส่งผลให้ตัวเลขส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2550
ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 5.9%
ตัวเลขการนำเข้ามีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจไม่แพ้กัน กล่าวคือ
สถานการณ์การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2550 รวมมูลค่า
77,693.02 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.14%
โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หรือสินค้าฟุ่มเฟือย
มีการนำเข้าขยายตัว 17.75% มูลค่า 6,325.52 ล้านเหรียญสหรัฐ
แซงหน้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปที่นำเข้าขยายตัว 13.46%
ในการเสวนา "สินค้าไทย ดี มีคุณภาพจริงหรือ ?"
ซึ่งจัดโดยกรมการค้าต่างประเทศเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา
ได้มีการเสวนาถึงความน่าเป็นห่วงของการทะลักเข้ามาของสินค้าฟุ่มเฟือยที่แต่ละปีขยายตัวเป็นตัวเลข
2 หลัก และเมื่อพิจารณาในรายละเอียด
พบว่าสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีการนำเข้ามูลค่าสูง อาทิ เครื่องรับโทรศัพท์
ขยายตัว 47.39% มูลค่า 1,063.55 ล้านเหรียญ เครื่องสำอาง ขยายตัว
10.90% มูลค่า 158.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลไม้และของปรุงต่างจากผลไม้
ขยายตัว 28.84% มูลค่า 144.22 ล้านเหรียญสหรัฐ อุปกรณ์ส่วนประกอบนาฬิกา
ขยายตัว 16.50% มูลค่า 139.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
นายกฤษฎา ธนะคุ้มชีพ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารการนำเข้า (สบน.)
กรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในช่วง 10
ปีก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ไทยขาดดุลการค้ามาตลอด
และเริ่มได้ดุลการค้าในปี 2540-2541 ที่ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่า
และได้ดุลต่อเนื่องมาอีก 7-8 ปี จนถึงปี 2548 เริ่มขาดดุลรุนแรงถึง 7
พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปีนี้ในช่วง 7 เดือนแรกไทยยังได้ดุลการค้า 5
พันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะการนำเข้าขยายตัวในสัดส่วนที่น้อย
แต่การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยต่อปี กลับขยายตัวแบบตัวเลข 2 หลักมาตลอด
ปีนี้ขยายตัว 18% แต่ละปีการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 7-8%
ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด มูลค่าประมาณ 9 พันล้านเหรียญ
รองจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งวัตถุดิบ 44% ทุน 26%
น้ำมันเชื้อเพลิงสัดส่วน 16% ยานพาหนะ 3% และอาวุธ 1%
สาเหตุที่ทำให้การนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้นเแยกเป็นสองสาเหตุ คือ
จากการเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีน และการนำเข้าสินค้า แบรนด์เนม
ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมีการตั้งโรงงานประกอบสินค้าแบรนด์ดังในไทย
จึงมีการนำเข้าชิ้นส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยเข้ามาในปริมาณมาก เช่น นาฬิกา
และแนวทางการแก้ไขยังทำได้ยาก
เพราะค่านิยมและกำลังซื้อของผู้บริโภคในแต่กลุ่มที่แตกต่างกัน
ทำให้บางกลุ่มมองว่าการใช้สินค้าแบรนด์เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับตนเอง
ด้าน นายยิ่งเกียรติ เหล่าศรีศักดากุล
รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า
รัฐบาลและเอกชนควรร่วมกันกำหนดมาตรการเพื่อยกระดับมาตรฐาน
และสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าไทย
เพราะขณะนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสินค้าไทย
โดยเฉพาะสินค้าระดับล่างจะได้รับผลกระทบเพราะไปแข่งขันโดยตรงกับสินค้าจีน
ที่สำคัญต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสินค้าในแหล่งต่างๆ ทั้ง
จตุจักร โบ๊เบ๊ สำเพ็ง ให้มีคุณภาพมากขึ้น
หากทำได้ไทยก็จะรักษาตลาดในประเทศ และสามารถส่งออกได้ด้วย
ปัจจุบันผู้ประกอบการเครื่องหนังจะผลิตจำหน่ายต่างประเทศ
และเป็นผู้รับจ้างออกแบบผลิต (ODM) ให้กับแบรนด์ต่างประเทศไปด้วย
ตลาดหลัก คือ สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง
เชื่อว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
เพราะส่วนแบ่งการตลาดของไทยยังไม่มาก
แต่ในอนาคตหากไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น
ซึ่งได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (เจเทปา)
ได้ก็ยิ่งช่วยการส่งออกขยายตัวมากขึ้น
แม้ว่าภาครัฐบาลและภาคเอกชนจะพยายามกระตุ้นการใช้สินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง
และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างมาตรฐานสินค้านำเข้า
เพื่อป้องกันความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
แต่มาตรการเหล่านี้คงจะช่วยดูแลการนำเข้าได้เพียงบางส่วน
เพราะสาเหตุสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกในการเลือกใช้สินค้าไทย
ที่เป็นปมแก้ยาก เพราะนอกจากจะรณรงค์สร้างค่านิยมการใช้สินค้าไทยแล้ว
ยังต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างมาตรฐานสินค้าไทย
รวมถึงการสร้างแบรนด์ไทยที่ได้รับการยอมรับจากต่างชาติด้วย
หน้า 8
ที่มา :ประชาชาติ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.
2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3927 (3127) |
|