โพสต์ทูเดย์ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ
กุมขมับ 6 มาตรการแก้บาทแข็งไร้ผล
เร่งเปลี่ยนการชำระค่าระวางเป็นเงินสกุลเหรียญสหรัฐแทนบาท หวังลดต้นทุน
นายสุชาติ จันทรานาคราช
ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า
ขณะนี้ความผันผวนของค่าเงินบาทยังกระทบต่อผู้ส่งออก
แม้ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออก 6
มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น
รัฐบาล กระทรวงการคลัง ธปท. ฯลฯ
ควรหาทางออกเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทที่ยั่งยืน
นายวรวิทย์ บวรวัฒนะ
ผู้จัดการฝ่ายโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สรท. กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.ย.
จะมีการประชุมร่วมกับกรมสรรพากร สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย
สมาคมท่าเทียบเรือสินค้า ฯลฯ
เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการชำระค่าระวางสินค้าด้วยสกุลเงินต่างประเทศ
ซึ่งหากหาทางออกร่วมกันในการลดค่าระวางสินค้าที่ต้องเปลี่ยนสกุลเงินจากสกุลเงินบาท
เป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐ
ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนส่งออกเพิ่มขึ้นในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน
และหากได้ข้อยุติในการลดค่าระวางก็ช่วยลดต้นทุนของผู้ส่งออกได้ส่วนหนึ่ง
นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า
จากสถิติการปิดตัวของโรงงานในช่วงครึ่งปีแรกตั้งแต่เดือน ก.พ-ก.ค.
แต่ละเดือนพบว่าโรงงานส่งออกสินค้าปิดตัวเดือนละกว่า 100 โรงงาน
ประกอบกับสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเดือน ก.ค.
2550 ได้มีการจัดอันดับพบว่าสินค้าที่ส่งออกลดลงมากที่สุด 5 อันดับ คือ
เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักร ลดลง 27% เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลง
26% เหล็ก ลดลง 17% รถยนต์ ลดลง 16% และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง 10%
สรท.เห็นว่าการแก้ไขปัญหาของ ธปท.ไม่ถูกต้อง
และสาเหตุที่ค่าเงินบาทลดลงช่วงนี้
เนื่องจากมีการขายเงินบาทของนักเก็งกำไรต่างชาติ
ทำให้เงินบาทในตลาดเพิ่มขึ้น
แต่ในอนาคตหากนักเก็งกำไรเหล่านี้กลับมาซื้อค่าบาทก็จะทำให้ค่าเงินของไทยแข็งตัวขึ้นอีก
นายสุชาติ กล่าว
ปัจจุบัน ธปท.คงอัตราเงินเฟ้อโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนอาจกระทบต่อสินค้าส่งออก
ดังนั้นทางแก้ไขเรื่องนี้ควรมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนค่าบาทว่าควรอยู่เท่าไร
อาจจะเป็น 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
หรืออยู่ในช่วงใดเพื่อรักษาเสถียรภาพการส่งออก
สอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการแบบค่าเงินลอยตัว
และคาดว่าหากรัฐบาลยังไม่รีบเข้ามาแก้ไขเรื่องค่าเงินบาทจะกระทบต่อยอดส่งออกที่ลดลงจากเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงปลายปี
2550 อย่างแน่นอน
ประธาน สรท. กล่าวว่า
ในส่วนของมาตรการรัฐที่ระบุให้คงมาตรการสำรองเงินไว้ที่ 30%
ของมูลค่าการส่งออกนั้น ถือว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นและไม่ควรยกเลิก
เพราะจะช่วยป้องกันเงินทุนไหลเข้าเพื่อการเก็งกำไรจากต่างประเทศ
ที่มา :
โพสต์ทูเดย์
วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550 |
|