"ราเชนทร์"
แก้ปัญหายอดส่งออกสิ่งทอลด เตรียมหารือผู้ส่งออกประเมินเป้าส่งออกแบบ
indirect รวมสินค้าที่ย้ายฐานผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาว
ด้านผู้ส่งออกมั่นใจ ส่งออกเสื้อผ้าปีหน้าขยายตัวได้ 10%
เผยปัญหาน้ำมันแพง-บาทแข็ง กลายเป็นปัจจัยลบกดดันผู้ผลิตขนาดกลาง-เล็กปิดตัว
นายราเชนทร์ พจนสุนทร
อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก (สอ.) เปิดเผยว่า
กรมเตรียมจะหารือกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย
เพื่อหาวิธีปรับระบบการประมาณการส่งออกในลักษณะ indirect export ว่า
จะประเมินรายได้การส่งออกจากการที่ภาคอุตสาหกรรมไทยไปลงทุนในต่างประเทศอย่างไร
เนื่องจากภาคการผลิตของไทย
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มได้ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
ซึ่งเร็วๆ
นี้กรมจะเดินทางร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยไปสำรวจการผลิตในประเทศลาว
ขณะนี้ผู้ส่งออกไทยไปลงทุนในลาวมากขึ้น
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยลดลง
โดยในช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) 2550 ปรับลดลงร้อยละ 4.02 มูลค่า
2,264.88 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สินค้าสิ่งทอขยายตัวร้อยละ 2.31
หรือมูลค่า 4,622.94 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่โดยรวมๆ
เชื่อว่าตัวเลขการส่งออกไม่ได้ลด และในปีนี้คงจะขยายตัวได้ตามเป้า
สำหรับตลาดสำคัญช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ส่วนใหญ่ขยายตัวลดลง
โดยสหรัฐลดลงร้อยละ 6.4 มูลค่า 1,114.48 ล้านเหรียญสหรัฐ
คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.21 สหภาพยุโรป (15) ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.83
มูลค่า 620.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 27.41
ญี่ปุ่นขยายตัวลดลงร้อยละ 17.86 มูลค่า 127.95 ล้านเหรียญสหรัฐ
สัดส่วนร้อยละ 5.65 มีเพียงตลาดอาเซียนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3
มูลค่า 52.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 2.33
นายวัลลภ วิตนากร เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า
ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปหลายราย
ได้ขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาวมี 6-7
รายที่เข้าไปลงทุนผลิตในลาว หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60
ของมูลค่าการส่งออก เนื่องจากลาวยังมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต
ค่าแรง และสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรป
จากที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติร้อยละ 12.5
ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกมาก ตลาดหลักของลาวก็คือ สหภาพยุโรป
คิดเป็นร้อยละ 90
ในส่วนของบริษัท ตนได้ย้ายกำลังการผลิตสินค้ากลุ่ม mass product
บางรายการไปที่ลาว แต่ยังคงฐานการผลิตบางรายการไว้ที่ประเทศไทย
มีมูลค่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือ 24 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
สินค้าจากลาวส่วนใหญ่จะส่งไปสหภาพยุโรปเพราะมีจีเอสพี
แต่ก็มีโอกาสที่จะขยายไปยังตลาดสหรัฐได้ในอนาคต
รัฐบาลควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้จากต่างประเทศ
เพราะการไปลงทุนในต่างประเทศไม่ใช่การย้ายฐาน แต่เป็นการขยายฐานการผลิต
โดยใช้วัตถุดิบจากประเทศไทยส่งไป
เพราะในลาวไม่มีวัตถุดิบต้นน้ำเหมือนไทย
นายเดช พัฒนเศรษฐพงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า
ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกทั้งปี 2550 จะขยายตัวร้อยละ 10 มูลค่า 3,800
ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะจะได้รับ คำสั่งซื้อในช่วงปลายปีมากขึ้น
ส่วนประมาณการส่งออกปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10 มูลค่า 4,000
ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากตลาดยุโรปกำลังประสบปัญหาเงินยูโรแข็งค่า
ซึ่งจะทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามามากขึ้นจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลให้ราคาสินค้าไทยถูกลง
และผลดีจากการลดภาษีตามกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (เจเทปา)
อย่างไรก็ตาม
สถานการณ์อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอปีหน้ายังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง
จนจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อตลาดปลายทาง
รวมถึงปัจจัยเงินบาทแข็งค่าที่แม้ขณะนี้จะมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง
แต่ต้องการให้รัฐดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง
โดยให้คงมาตรการกันสำรองเงินทุนต่างประเทศร้อยละ 30 ไว้
รายงานข่าวกล่าวว่า มีการประเมินสถานการณ์ส่งออกเครื่องนุ่งห่มปี 2551
การเติบโตของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มควรจะขยายตัวร้อยละ 3-5
เนื่องจากตลาดทั่วโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว
และยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องค่าบาท และการเมืองหลังการเลือกตั้ง
ซึ่งต้องรอดูทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ด้วย
หน้า 10