ญี่ปุ่นเจรจาเวียดนามคาดเปิดเสรีปี"51 พาณิชย์เตือนผู้ส่งออกเร่งใช้"JTEPA"

ที่มา  :ประชาชาติธุรกิจ

25 ตุลาคม 2550

 

   
 พาณิชย์เตือนผู้ส่งออกรีบใช้ประโยชน์จาก JTEPA หลังพบญี่ปุ่นเร่งเจรจาเปิดเสรีการค้ากับเวียดนาม คาดมีผลใช้บังคับกลางปี 2551 ด้าน "วินิจฉัย" เผยความคืบหน้า FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น เหลืออีก 2 ประเด็น แหล่งกำเนิดสินค้าสิ่งทอ-ระยะเวลาการใช้มาตรการปกป้อง หวั่นทำให้การเจรจาอาเซียน-ญี่ปุ่นลากยาว

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กำลังจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ และคาดว่าสินค้าไทยหลายรายการจะได้ประโยชน์จากความตกลงนี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะได้ "แต้มต่อ" อาจจะไม่นานอย่างที่คาดกันไว้ เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังเร่งเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับอาเซียน และทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเวียดนาม-ญี่ปุ่น

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ความคืบหน้าในการเจรจาเอฟทีเอระหว่างญี่ปุ่น-เวียดนาม มีความเข้มข้นมาก เพราะทั้งสองประเทศมุ่งหวังที่จะให้การเจรจาดังกล่าวสิ้นสุดลงภายในเดือนธันวาคม 2550 แม้ว่าจะเพิ่งเจรจาไป 3-4 รอบ โดยญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโลจิสติกส์

หากญี่ปุ่นและเวียดนามสามารถสรุปข้อตกลงเอฟทีเอได้ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณกลางปี 2551 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยในบางสินค้า เช่น เครื่องนุ่งห่ม เพราะผู้ประกอบการไทยรายใหม่จะเข้าทำตลาดในญี่ปุ่นคงต้องใช้เวลา 6-8 เดือนนับจากที่ JTEPA มีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2550 เท่ากับว่าไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จาก JTEPA ได้ในเดือนพฤษภาคม 2551 หรือก่อนความตกลง เอฟทีเอไทย-เวียดนามแค่ 1 เดือน

"ขณะนี้ทราบว่าญี่ปุ่นและเวียดนามมีปัญหาในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าของสินค้าเครื่องนุ่งห่มเช่นกัน ซึ่งประเด็นนี้อาจจะทำให้การเจรจายืดเยื้อออกไปได้ อย่างไรก็ตามภาคเอกชนไทยควรจะเร่งรีบศึกษาและหาทางใช้ประโยชน์จาก JTEPA ให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะเข้าไปเจาะตลาดญี่ปุ่นให้ได้ก่อนที่คู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนามจะเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นสำเร็จ ทั้งนี้ญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์จากการเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม รวมทั้งเข้าไปลงทุนระบบโลจิสติกส์ ขณะที่เวียดนามจะได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไปญี่ปุ่น" แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเจรจาจัดทำข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่นว่า จะต้องได้ข้อสรุปในการเจรจาครั้งต่อไปซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายนนี้ ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และจะต้องรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ จากเดิมมีกำหนดจะต้องสรุปผลการเจรจาตั้งแต่การประชุมครั้งที่ผ่านมา แต่ยังมีประเด็นที่ตกลงไม่ได้ 2 เรื่อง คือ

แหล่งกำเนิดสินค้าส่วนใหญ่จะคล้ายในเอฟทีเอที่ญี่ปุ่นเจรจาในระดับทวิภาคีกับประเทศในอาเซียน โดยประเด็นที่ยังสรุปไม่ได้ คือ การใช้แหล่งกำเนิดแบบเฉพาะสินค้า หรือ product specific rules เช่น สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม ที่ญี่ปุ่นเสนอต้องการให้ใช้ระบบ 2-step (นับตั้งแต่ผ้าผืน) ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่รวมทั้งไทย ที่มีการผลิตขั้นต้นน้ำ-กลางน้ำในประเทศก็ยอมรับระบบนี้ได้ มีเพียงเวียดนาม และกัมพูชา ที่ต้องการให้ใช้ระบบ 1-step เพราะทั้งสองประเทศไม่มีการผลิตขั้นต้นน้ำ เช่น ผ้าผืน เส้นด้าย

ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง คือ มาตรการปกป้อง (safeguard) อาเซียนเห็นว่า เมื่อลดภาษีเป็น 0% ไปแล้วภายใน 10 ปี ผู้ประกอบการคงจะปรับตัวได้ และควรหันไปใช้มาตรการปกป้องในองค์การการค้าโลก (WTO) แทน แต่ญี่ปุ่นต้องการให้มีมาตรการปกป้องเฉพาะในอาเซียน-ญี่ปุ่นตลอดไป เพราะกังวลเรื่องการทะลักข้าวของสินค้าเกษตร ซึ่งมีกรอบการลดภาษีมากกว่า

"ญี่ปุ่นคงจะไม่ยอมถอยในสิ่งที่เสนอ ดังนั้นสมาชิกอาเซียนก็ต้องตัดสินใจ ในส่วนของไทย มีนโยบายมอบหมายให้เจรจาเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งประเมินภาพรวมมองว่ามีสินค้า 70-80 รายการ ที่ไทยได้ประโยชน์มากกว่า JTEPA โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตร เช่น ปลาหมึก และยังมีประโยชน์ในการใช้แหล่งกำเนิดสินค้าแบบสะสมในอาเซียนในการส่งออกไปญี่ปุ่น" นายวินิจฉัยกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า ประเด็นที่เป็นอุปสรรคในการเจรจาข้อตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น และระหว่างญี่ปุ่น-เวียดนาม เป็นประเด็นเดียวกัน และถ้าหากได้ข้อสรุปในกรอบของญี่ปุ่น-เวียดนามก่อน ก็จะเป็นการขยายแต้มต่อในส่วนของเวียดนาม เพราะส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่เวียดนามเสนอขอลดภาษีเป็นสินค้าชนิดเดียวกับไทย ขณะที่หากผลักดันให้เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่นได้ข้อสรุปก่อน ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับประเทศอาเซียนโดยรวมมากกว่า


หน้า 8