ที่มา :มติชน

24 กันยายน 2550

 JTEPA อ่อนประชาสัมพันธ์ WIN WIN ลดภาษี 2 ฝ่าย

 
    
ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทย และในปลายปี 2550 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะมีผลใช้บังคับ ทำให้ตลาดญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับสินค้าส่ง ออกไทย

นายโนริฮิโตะ ทะนะกะ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (HTA) ประจำโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้ความเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับให้ JTEPA มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่

1 พฤศจิกายน 2550 แล้ว โดยมองว่าจะช่วยลดอุปสรรคกำแพงภาษีนำเข้า และทำให้เกิดความเคลื่อนไหวระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมายังมีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้น้อย หากมีการประชาสัมพันธ์จะช่วยให้มีการใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม JTEPA เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันอีก เช่น บริษัทญี่ปุ่นจะส่งเทรนเนอร์มาไทย หรือคนไทยไปสอนชาวญี่ปุ่น คาดว่าในปี 2008 (2551) JTEPA จะช่วยให้ไทยและญี่ปุ่นสามารถขยายการค้าได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10

สถานการณ์เศรษฐกิจภายในของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้อสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม) ของสหรัฐ ธนาคารกลางของญี่ปุ่นจึงชะลอการลดดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อ อัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เงินเยนปรับแข็งค่าขึ้น หลังจากนี้อาจจะใช้ระยะเวลาอีก 2-3 ปี จึงจะเห็นผลชัดเจน เชื่อว่าอย่างเร็วที่สุดในปลายปี 2551 จะเกิดผลกระทบในด้านลบกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในปี 2551 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3 ต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดไว้ว่า จีดีพี ในปี 2551 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3-4 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่อยู่ระดับร้อยละ 2.5-3

"การขยายตัวของจีดีพีที่ร้อยละ 3 สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ในภาวะทรงตัว ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคทำให้ประชาชนชะลอหรือระมัดระวังการใช้จ่ายเพื่อรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนของไทยที่ปรับแข็งค่าขึ้นนั้นไม่ใช่ปัญหาการส่งออก เพราะบาทไทยเคยปรับแข็งค่ากว่านี้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน เพราะความผันผวนเป็นสิ่งที่ต้องดูแล" นายทะนะกะกล่าว

แนวโน้มการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในอนาคต 5 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในตลาดจีนเป็นหลัก แต่จะมีนโยบายแบบไชน่าพลัสวัน (China +1) คือมองประเทศอื่นอีกนอกจากจีน เพื่อกระจายความเสี่ยงในด้านการลงทุน ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพที่นักลงทุนมองคือไทยและเวียดนาม

ภาพของไทยในสายตาญี่ปุ่นก็คือมีความใกล้ชิดคุ้นเคย และไทยมีความสามารถมีการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการลงทุน ดังนั้นไม่ว่าจะเปิดเอฟทีเอกับอาเซียนก็คงไม่มีปัญหา แต่ที่น่ากลัวมากคือเวียดนามซึ่งในอนาคตมีการออกนโยบายสนับสนุนการลงทุน ให้สิทธิพิเศษในการลงทุนมากขึ้น แต่ก็ยังมีจุดอ่อนจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบ่อยครั้งจนสร้างความไม่มั่นใจในการลงทุน

นายทะนะกะกล่าวถึงประเด็นที่นักลงทุนญี่ปุ่นกังวลว่า นักลงทุนญี่ปุ่นจับตาการ ใช้นโยบายปรับแก้ไขกฎหมายภายในประเทศของไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ การปรับแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจ ของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ว่าอาจจะต้องให้ฝ่ายรัฐบาลหารือกัน เพื่อขอความเห็น ชอบให้รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้นได้มากกว่า 49% เพราะการปรับนิยามให้เข้มขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาการถือหุ้นแทน (นอมินี) แต่ญี่ปุ่นต้องการให้ระวังประเด็นการมีสิทธิในการออกเสียง และการนำเงินมาลงทุนในประเทศ


หน้า 6