นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
กล่าวถึงการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตที่จะมีความผันผวนของระบบการเงินโลกว่า
ประเทศจะต้องสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งขึ้น
และสร้างความยืดหยุ่นที่มากขึ้นให้กับระบบเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้
นโยบายการแข่งขันที่ดีที่สุดของประเทศ ในมุมมองของตนคือ
การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน
ซึ่งหมายรวมถึงการเปิดเสรีด้วย
เพราะการเปิดเสรีจะช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนมากขึ้น
เพื่อก่อให้เกิดแนวความคิดใหม่ๆ
และหาหนทางที่ดีที่สุดเพื่อการแข่งขันกับต่างประเทศ
ซึ่งในส่วนของระบบการเงินนั้น
ผู้ที่สามารถจัดการกับความเสี่ยงจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์
มากที่สุดจากการไหลเข้าของเงินทุน
ภาพข้างหน้าของระบบการเงินไทยได้เปลี่ยน แปลงไป
จากเดิมที่แน่ใจว่าการกำกับดูแลและกฎเกณฑ์
ที่เหมาะสมจะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าของระบบการเงินที่เหมาะสม
แต่ในขณะนี้การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน
และสถาบันการเงินที่เหมาะสม
ซึ่งจะช่วยให้การบริหารความเสี่ยงทางการเงินเป็นอีกเรื่องที่สำคัญเพื่อรับมือความผันผวนของระบบการเงินโลก
โดยร่างแก้ไข พ.ร.บ.การเงินทั้ง 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย
พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ.เงินตรา และ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญที่จะช่วยในการวางรากฐานในการรับมือความผันผวนของระบบการเงินจากกระแสการไหลเข้าออกของเงินทุน
และการเก็งกำไรจากนักลงทุนต่างประเทศที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ขณะนี้
ร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน
และ พ.ร.บ.เงินตรา
อยู่ในขั้นตอนของการเข้าการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ขณะที่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่าง
การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวยอมรับว่า
ประเทศไทยจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนและความสับสนอลหม่านของระบบการเงินโลกต่อไป
และมีแนวโน้มที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะไม่แก้ปัญหาหรือวางนโยบายใดๆในระยะสั้น
แต่จะชั่งน้ำหนักอย่างระมัดระวังระหว่างปัจจัยระยะสั้น
และระยะยาว.
|