ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ

24 กันยายน 2550

 ปีหน้าใช้นโยบายเร็ว-ลึก-กระชับมากขึ้น ทูตพาณิชย์หัวหมุนดันส่งออกโต12%

 

พาณิชย์คาดเป้าส่งออกปี 2551 เพิ่มขึ้น 12% เน้นเพิ่มสัดส่วนส่งออกไปตลาดใหม่ ทูตพาณิชย์หวั่นสถานการณ์ส่งออกทั่วโลกส่อเค้าเหนื่อย จี้ สคต.จับคู่ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์เสนอแผนกำหนดยุทธศาสตร์ส่งออกปี 2551 ภายใน 2 เดือน ด้านเกริกไกรมอบนโยบาย 7 ด้าน เน้นการทำงานร่วมกันให้เร็ว-ลึก-กระชับมากขึ้น

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) 56 แห่ง และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกระทรวงพาณิชย์ด้านการค้าระหว่างประเทศ (Honorary Trade Advisor หรือ HTA) จำนวน 44 คน ใน 30 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2550

โดยในวันแรกเป็นการมอบนโยบายด้านการค้าต่างประเทศ ส่วนวันที่สองเป็นการร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์การส่งออกรายภูมิภาค ได้แก่ อเมริกา ยุโรป จีน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เอเชียตะวันออก และโอเชียเนีย และกลุ่มอาเซียนและเอเชียใต้

นายเกริกไกรเปิดเผยภายหลังการหารือว่า ได้มอบนโยบาย 7 เรื่องให้กับกรมส่งเสริมการส่งออกและ HTA คือ 1) ช่วยชี้นำผลประโยชน์ร่วมกัน 2 ประเทศ 2) ผูกโยงธุรกิจไทยกับธุรกิจของประเทศคู่ค้าในกลุ่มที่มีการเอื้อต่อกัน 3) ช่วยวิเคราะห์และให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ นโยบายและอุปสรรคการค้า 4) ข้อเสนอแนะด้านการเจรจาการค้าเพื่อจัดทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี

5) ข้อเสนอแนะในการนำกลุ่มบุคคล หรือภาคธุรกิจมาจับคู่ธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการเปิดตลาดการค้า-การลงทุนระหว่างกัน 6) ส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่ไทยสนใจ รวมถึงการลงทุนในประเทศที่สาม และ 7) จัดทำรายงานสรุปสั้นเสนอกลับมาไทยทุก 2 เดือน หรือเฉลี่ยเดือนละครั้ง เพื่อเป็นการแจ้งเตือน (early warning) ให้กับผู้ส่งออก

นายราเชนทร์ พจนสุนทร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ประเด็นที่ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นใน วันที่ 20 กันยายน ได้มอบหมายให้ HTA ร่วมกับ สคต.ประสานถึงแนวทางในการจัดทำแผนประเมินสถานการณ์ เพื่อนำมาสรุปในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งแผนนี้จะช่วยในการประมาณการตัวเลขส่งออกปี 2551 ได้

ข้อเสนอ HTA ญี่ปุ่นเสนอแนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดย สคต.สหรัฐให้ข้อ เสนอแนะว่า ตลาดสหรัฐเป็นตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งมีช่องทางการขายที่แตกต่างกัน จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้ส่งออกไทยตอบสนองได้เร็ว

ด้าน สคต. แอฟริกาใต้เสนอว่า ต้องการเร่งให้นักธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในแอฟริกา เพราะขณะนี้จีนได้เริ่มไปมากแล้ว โดยเฉพาะในกานาและแอฟริกาใต้ ซึ่งคงจะต้องรอ ให้การจัดตั้ง สคต.ที่เคนยาและไนจีเรียเรียบร้อยจึงจะปรับกิจกรรมตาม ส่วน สคต.สหภาพยุโรปเสนอให้ไทยรักษาภาพลักษณ์และมาตรฐาน สินค้า และเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้บริโภค สคต.จีนเน้นให้ไทยโฟกัสสินค้าที่ไทยมีจุดแข็ง เช่น ข้าวหอมมะลิ

อย่างไรก็ตามแม้กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่กำหนดเป้าหมายการส่งออกปี 2551 อย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 12% ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวใกล้เคียงกับ ปีนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ อาทิ ตะวันออกกลาง จีน แอฟริกา เอเชียใต้ ยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา และอาเซียนรวมถึงการผลักดันธุรกิจบริการให้สูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สคต.ต่างๆ ได้เสนอแผนส่งเสริมการส่งออกปีหน้า (target 2008) เบื้องต้น ซึ่งหลายตลาดได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกใน ปี 2551 ลง และบางตลาดก็พยายามรักษาเป้าหมายการส่งออกให้ใกล้เคียงกับปีนี้ โดยตลาดสำคัญ ภูมิภาคอเมริกาเหนือ แคนาดา คาดว่าปี 2551 จะขยายตัวร้อยละ 10 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 9 มูลค่า 1,350.18 ล้านเหรียญสหรัฐ บราซิลขยายตัวร้อยละ 35 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 30 มูลค่า 820 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนภูมิภาคยุโรป รัสเซีย ขยายตัวร้อยละ 25 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 30 มูลค่า 503.53 ล้านเหรียญสหรัฐ อังกฤษขยายตัว ร้อยละ 7 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 8 มูลค่า 3,674.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภูมิภาคตะวันออกกลางขยายตัวร้อยละ 19.5 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 19.7 มูลค่า 7,133.0 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศสำคัญที่ขยายตัวสูงคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขยายตัวร้อยละ 30 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 30 มูลค่า 1,916.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภูมิภาคจีน (กวางเจา) ขยายตัวร้อยละ 22 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 20 มูลค่า 11,056 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 7 จากปีนี้ที่ตั้งเป้าว่าจะขยายตัวร้อยละ 10 มูลค่า 18,073.66 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียขยายตัว ร้อยละ 50 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 60 มูลค่า 2,885 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดอาเซียนประเทศที่ส่งออกสำคัญคือ สิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 10 จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6 มูลค่า 8,860 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ที่ประชุมได้กำหนดให้ทุกภูมิภาคมีส่วนร่วมในการผลักดันธุรกิจบริการเพื่อให้ประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจบริการในสัดส่วนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้า (services provider) โดยเฉพาะร้านอาหารไทย ธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงาม (โรงพยาบาลและธุรกิจสปา) และการศึกษานานาชาติ

ส่วนธุรกิจบริการใหม่ๆ ที่มี ศักยภาพได้แก่ธุรกิจออกแบบก่อสร้าง อู่ซ่อมรถยนต์ บันเทิง ตัดเย็บเสื้อผ้า และธุรกิจแฟรนไชส์ และให้ สคต.ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศซึ่งจะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ทั้งด้านวัตถุดิบ เทคโนโลยี แรงงาน ลดความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยนและได้ประโยชน์จากส่วนต่างระหว่างราคาเอฟโอบีกับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า


หน้า 6