นายกสมาคมผู้ผลิตไข่ไก่หวั่นไข่ไก่ล้นตลาด
วอนผู้เลี้ยงลดกำลังผลิต 10-20 %
ชี้ทิศทางบริโภคยังชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนพุ่งต่อเนื่อง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :
นายณรงค์ เจียมใจบรรจง นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า
และส่งออกไข่ไก่ เปิดเผยว่า
ความต้องการบริโภคไข่ไก่ในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว
ขณะที่ปริมาณผลผลิตไข่ไก่
มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลังจากได้เลิกกิจกรรมลดการผลิตลูกไก่ไข่ลง 10 %
ติดต่อกันเพียง 10 สัปดาห์ ทางสมาคมฯ
จึงอยากขอความร่วมมือผู้เลี้ยง ช่วยกันลดกำลังผลิตลง
10-20 % เนื่องจากเป็นวิธีที่เห็นผลเร็วและง่ายที่สุด
จากข้อมูลที่กรมปศุสัตว์
สำรวจจากการขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ
ล่าสุดที่มีจำนวน 3,115 ฟาร์ม (ณ วันที่ 3 ตุลาคม
2550) ยกเว้นปทุมธานี ปราจีนบุรี สุรินทร์
และสมุทรสาคร พบว่ามีไก่ไข่อายุมากกว่า 18
สัปดาห์ขึ้นไป รวม 37.8 ล้านตัว
นับว่าเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
เมื่อเทียบกับผลสำรวจของสมาคมฯ
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ที่ประเมินว่ามีแม่ไก่ไข่ยืนกรงประมาณ 35 ล้านตัว
มีผลผลิตไข่ไก่ประมาณ 26-27 ล้านฟองต่อวัน
ในกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่มีความเป็นห่วงว่า
แนวโน้มปริมาณแม่ไก่ไข่จะเพิ่มขึ้นอีก
ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตไข่ไก่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ต้นทุนการผลิตก็มีแนวโน้มที่สูงขึ้นมาตลอด
ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์
โดยเฉพาะข้าวโพดอาหารสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบหลักของอาหารไก่ไข่
และค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
โดยปัจจุบันต้นทุนไข่ไก่อยู่ที่ประมาณ 2.00 บาท/ฟอง
และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 2.20-2.40 บาท/ฟองในเร็วๆ นี้
จึงอยากให้ฟาร์มต่างๆ ช่วยกันลดกำลังผลิต
เพื่อให้มีผลผลิตไข่ไก่ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค
นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ไข่ไก่
เป็นสินค้าเกษตรที่มีราคาขายขึ้นลงตาม DEMAND SUPPLY
ซึ่งปกติแล้วเดือนตุลาคมของทุกปีจะเป็นเดือนที่ความต้องการบริโภคลดลง
เพราะเป็นช่วงปิดภาคเรียน และตรงกับเทศกาลกินเจ
ขณะที่ปริมาณการผลิตไข่ไก่สูงขึ้น
ทำให้มีไข่ไก่ส่วนเกินเหลือจากการบริโภค
สะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม
ปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคา ณ วันที่ 20
ตุลาคม 2550 ได้ปรับจาก 2.10 บาท/ฟอง เหลือ 1.80 บาท/ฟอง
อย่างไรก็ตาม
ในวงไข่ไก่ก็พยายามบริหารจัดการกับปริมาณไข่ไก่ส่วนเกิน
เพื่อพยุงราคาไว้ ซึ่งสมาคมฯ
ยังคงส่งออกไข่ไก่อย่างสม่ำเสมอ
ขณะนี้ทางคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ และผลิตภัณฑ์
(EGG BOARD) อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งกองทุน
เพื่อหาเงินมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ
เพื่อส่งเสริมการบริโภคที่เพิ่มขึ้น
จึงอยากให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ช่วยสนับสนุนการจัดตั้งคณะทำงานอย่างจริงจัง
เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้วงการไก่ไข่มีพัฒนาที่ดีขึ้นในอนาคต