ที่มา :คมชัดลึก

23 กันยายน 2550

ไทยเร่งแก้ปัญหาละเมิดสิทธิ์ เตรียมหารือคุมก๊อบปี้ตำรา-สัญญาณเคเบิลทีวี

 

     พาณิชย์เดินหน้าแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญหา นัดถกหน่วยงานการศึกษา วางแนวทางป้องกันละเมิดสิทธิ์ตำราเรียน พร้อมเจรจาทรูเรื่องละเมิดสิทธิ์เคเบิลทีวี ชี้มีส่วนทำให้สหรัฐจับตามองพิเศษ เตรียมใช้เป็นแผนยื่นทบทวนสถานะไทยปีหน้า

นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมจะเร่งหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหาแนวทางดูแลการละเมิดลิขสิทธิ์ตำราเรียนในเร็วๆ นี้ รวมถึงจะหารือกับติวเตอร์ หรือสถาบันกวดวิชาต่างๆ ด้วย เพราะมีการก๊อบปี้ตำราเรียนในเชิงพาณิชย์อย่างมาก

 ด้านนายสาธิต อุรุวงศ์วณิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิทยพัฒน์ จำกัด เจ้าของนวัตกรรม ก๊อบปี้ โปรเทคท์ (COPY PROTECT) กล่าวว่า สนับสนุนให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกมาดูแลการละเมิดด้านเอกสารตำราเรียน และไม่ควรดูแลเฉพาะลิขสิทธิ์ที่มาจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ควรดูแลลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบการไทยด้วย ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นมานาน เดิมเป็นปัญหาจากตำราที่ผลิตจากต่างประเทศ มีราคาแพงและหายาก แต่ตอนนี้ลามมาถึงตำราไทย ทำให้สำนักพิมพ์ได้รับผลกระทบ ระยะยาวจะกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทยด้วย

 ส่วนความคืบหน้าในการแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสินค้าอื่นนั้น นางพวงรัตน์ กล่าวว่า สัปดาห์นี้จะหารือกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถึงแนวทางแก้ปัญหาการละเมิดสัญญาณดาวเทียมและเคเบิลทีวี หลังจากที่ได้หารือกับกรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ระบุว่า ไทยละเมิดสัญญาณดาวเทียม และเคเบิลทีวีเพิ่มขึ้นทุกปี

 "การละเมิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษด้านทรัพย์สินทางปัญญา (พีดับบลิวแอล) ตามกฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ" นางพวงรัตน์ กล่าว

 นางพวงรัตน์ กล่าวว่า ความคืบหน้าการแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในรายงานที่กรมจะทำถึงสำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) เพื่อให้ทบทวนสถานะของไทยด้านทรัพย์สินทางปัญญาประจำปี 2551 โดยจะทำให้แล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งในรายงานจะระบุถึงเนื้อหารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่เพิ่มความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นด้วย