ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ

20 กันยายน 2550

 

   ทยมีลุ้นฟ้องZEROINGเก็บเอดีกุ้ง หลังเอกวาดอร์ชนะสหรัฐในWTO



    
ทูต WTO เผยไทยมีลุ้นชนะสหรัฐ ประเด็นฟ้องสหรัฐใช้ zeroing คำนวณอัตรา AD หลังเอกวาดอร์ฟ้องชนะ แนะผู้ส่งออกเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรักษาส่วนแบ่งตลาด 30% ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศผลทบทวน AD กุ้ง ขั้นต้น พบส่วนเหลื่อมทุ่มตลาดบริษัทไทยอยู่ที่ 2.58-57.64% ด้านรูบิคอน-ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์-แพ็คฟู้ด-ไทยเอกมัย ห้องเย็น เตรียมส่งข้อมูลทบทวน หวังได้อัตราภาษีต่ำกว่า 2% ในการประกาศอัตราภาษีขั้นสุดท้าย

นายธวัชชัย โสภาเสถียรพงศ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำองค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีเอกวาดอร์ที่ฟ้องชนะสหรัฐ เมื่อเดือนมกราคม 2550 ว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา สหรัฐประกาศว่าได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของคณะผู้พิจารณา (panel) ภายใต้ WTO ที่ให้ยกเลิกการใช้ zeroing กับสินค้ากุ้งจากเอกวาดอร์แล้ว โดยเมื่อคำนวณ AD กุ้งของเอกวาดอร์ใหม่แบบไม่ใช้ zeroing ส่งผลให้ส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด (dumping margin) มีค่าต่ำมาก (น้อยกว่า 2% ซึ่งถือเป็นระดับ de minimis) ดังนั้นสหรัฐจึงยกเลิกการเก็บ AD สำหรับสินค้าดังกล่าวตามที่ความตกลง AD ของ WTO กำหนดไว้

ผลจากการที่สหรัฐยอมปฏิบัติตามคำตัดสินภายในระยะเวลาที่กำหนดสำหรับคดีของเอกวาดอร์ถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับกรณีของไทยซึ่งได้ฟ้องประเด็น zeroing เหมือนกัน ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับคงจะขึ้นอยู่กับส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด (dumping margin) ของผู้ ส่งออกกุ้งไทยที่สหรัฐควรจะต้องคำนวณใหม่โดยไม่ใช้วิธีการ zeroing

สำหรับความคืบหน้าในการฟ้องของไทยขณะนี้ทางคณะผู้พิจารณา (panel) อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งคาดว่า panel จะเวียนผลการตัดสินให้กับคู่กรณีประมาณเดือนพฤศจิกายน 2550 อย่างไรก็ดีหากไทยหรือสหรัฐขออุทธรณ์ ผลการตัดสินขั้นสุดท้ายก็น่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-6 เดือนจากนั้น

"สำหรับผลกระทบกรณีเอกวาดอร์ที่อาจมีต่อ ผู้ส่งออกกุ้งจากประเทศอื่นๆ ในปัจจุบัน เช่น อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม และไทยคงต้องรอเทียบกับความสามารถในการส่งออกกุ้งของเอกวาดอร์ด้วยว่าเป็นอย่างไร เอกวาดอร์จะมีศักยภาพในการที่จะส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยตั้งแต่ปี 2005 สหรัฐนำเข้ากุ้งจากไทยประมาณ 27-30% ต่อปี จากอินโดนีเซีย เวียดนาม และเอกวาดอร์ประเทศละ 10-13% ต่อปี และจากจีน อินเดีย และเม็กซิโกประมาณประเทศละ 4-7% ต่อปี" นายธวัชชัยกล่าว

แหล่งข่าวจากกลุ่มผู้ส่งออกกุ้งไทยกล่าวว่า ผลจากการยกเลิก AD กุ้งเอกวาดอร์ ทำให้ราคากุ้งในสหรัฐต่ำลง และเกิดความแตกต่างในด้านราคาทันที เพราะก่อนหน้านี้ไทยเสียภาษี AD ในอัตราเฉลี่ย 5.95% ต่างจากเอกวาดอร์ 2% แต่ขณะนี้เอกวาดอร์เป็น 0% ซึ่งก็เท่ากับเราห่างกับเอกวาดอร์มากขึ้น อาจจะทำให้สหรัฐใช้เป็นเหตุผลในการกดราคากุ้งไทย แต่อย่างไรก็ตามปริมาณการส่งออกกุ้งของเอกวาดอร์ไปสหรัฐมีเพียง 9 แสนตัน น้อยกว่าไทยที่มีการส่งออกไปสหรัฐ 1.7 แสนตันต่อปี

ผู้ส่งออกไทยจะต้องติดตามผลการประกาศทบทวน AD ขั้นสุดท้าย ที่บริษัทต่างๆ อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลสำหรับยื่นทบทวน คาดว่าจะสามารถประกาศได้ในเดือนมีนาคม และจะมีการทบทวนข้อมูลในเดือนหน้า ส่วนในด้านผลฟ้อง WTO นั้นจะส่งผลในระยะยาว ประมาณ 18 เดือนนับจากเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หรือประมาณปี 2552 เนื่องจากสหรัฐมีสิทธิที่จะขอดูก่อนว่าจะปฏิบัติตามผลการพิจารณาหรือไม่

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้ส่งออก 4 ราย คือกลุ่มรูบิคอน ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ (มหาชน) แพ็คฟู้ด และไทยเอกมัย ห้องเย็น อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เพื่อส่งให้กับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐพิจารณาทบทวนอัตรา เอดีขั้นสุดท้าย โดยมีกำหนดจะต้องส่งภายใน 2 สัปดาห์ โดยผู้ส่งออกหวังว่าการทบทวน AD รอบใหม่ควรจะได้ต่ำกว่า 2% ซึ่งหากทำได้จะเป็นผลดีกับผู้ส่งออก เพราะหากไทยฟ้องประเด็น zeroing ชนะ มีโอกาสที่สหรัฐจะยกเลิกการเก็บ AD แต่มองว่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งไทยเล็กน้อย เนื่องจากกุ้งของเอกวาดอร์จะส่งออกไปจำหน่ายภัตตาคารเป็นหลัก ขณะที่กุ้งไทยจะแปรรูปเพิ่มมูลค่าและส่งไปจำหน่ายกลุ่มค้าปลีก


หน้า 6