ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ

20 กันยายน 2550

 

    FTAชะงักหลังออสซี่กดดันอาเซียนคุ้มครองIPมากกว่าWTO
 

       FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชะงัก หลังออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์เสนอให้อาเซียนเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้มากกว่า TRIPs ไทยชูจุดยืนรับได้แค่ความร่วมมือทางทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น เผยประเทศที่ยังตกลงไม่ได้ ทั้งสินค้า-บริการ-ลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศคาดลากยาวถึง พ.ค.2551

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าในการเจรจาจัดทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ว่า ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ในบทว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ทางออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์เสนอขอให้อาเซียนเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา (enforcement) ที่มาก กว่าที่ผูกพันไว้ในข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) หรือ TRIPs Plus ซึ่งทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่สามารถยอมรับข้อเสนอได้ เพราะแต่ละประเทศมีระดับการคุ้มครองทรัพย์ทางปัญญาที่แตกต่างกัน

ข้อบททรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่ออสเตรเลียเสนอมีความเข้มงวดกว่าที่ไทยผูกพันไว้ในดับบลิวทีโอ และสูงกว่าข้อเสนอในข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ดังนั้นท่าทีของไทยในการเจรจาเรื่องนี้ ก็คือการสร้างความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น ซึ่งไทยได้เสนอเรื่องนี้ไปยังที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (SEOM) ร่วมกับสมาชิกประเทศอาเซียนอื่นแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ระดับความแตกต่างด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายในประเทศอาเซียนที่มีความแตกต่างกันนี้ จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเจรจาความตกลง เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ ยกตัวอย่างเช่น บางประเทศที่ได้เจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีข้อเสนอด้านทรัพย์สินทางปัญญาสูงกว่าที่ผูกพันไว้ในดับบลิวทีโอ ก็เท่ากับยอมรับข้อเสนอเหล่านี้ได้ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น จะส่งผลต่อการลงมติเป็นเอกฉันท์ของอาเซียน

ก่อนหน้านี้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ประกาศเลื่อนกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการเจรจาเอฟทีเอฉบับนี้ออกไปจากภายในปี 2550 เป็นเดือนพฤษภาคม 2551 เนื่องจากยังมีอุปสรรคที่ยังตกลงกันไม่ได้หลายประการ โดยประเด็นสำคัญคือ การเปิดเสรีบริการและการลงทุน กรอบการลดภาษี และความร่วมมือด้านสุขอนามัย

"อุปสรรคสำคัญ คือ ออสเตรเลียเพิ่งจะยื่นข้อเสนอภาคการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งมากกว่าในกรอบทวิภาคี ทำให้บางประเทศไม่สามารถรับได้ เพราะความผูกพันนี้จะเป็นการผูกมัดประเทศโดยไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้ ส่วนกรอบการลดภาษีก็ยังมีปัญหา เพราะออสเตรเลียไม่ต้องการให้มีสินค้าอ่อนไหว/อ่อนไหวสูง แต่ต้องการให้ลดภาษี 0% เป็นขั้นต่ำที่สุด ต่างจากที่อาเซียนเคยเจรจากับคู่ค้าอื่นก็มีทั้งสินค้าอ่อนไหว และอ่อนไหวสูง ทั้งยังมีปัญหาที่ออสเตรเลียไม่ยอมรับมาตรฐานของอาเซียน เพราะเห็นว่าเป็นมาตรฐานที่ต่ำกว่า ซึ่งจะต้องเจรจากันต่อไปว่าจะมีทางออกอย่างไร ซึ่งมีกำหนดจะเจรจารอบต่อไปวันที่ 23-28 กันยายนนี้" นางสาวชุติมากล่าว

อย่างไรก็ตาม ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ มีความเข้มข้นน้อยกว่าในเอฟทีเอทวิภาคี เพราะอาเซียนไม่ค่อยอยากจะเปิดในกรอบนี้ เนื่องจากหลายประเทศได้เจรจาทำเอฟทีเอทวิภาคีไป เช่น สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และบรูไน ส่วนกัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ยังไม่ได้ทำ

สำหรับสถานการณ์การค้าระหว่างไทย-ออสเตรเลียในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม- มิถุนายน) ของปี 2550 ทั้งสองประเทศทำการค้าระหว่างกัน 4,743.93 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีมูลค่าการส่งออก 2,828.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวคิดเป็นร้อยละ 46.84 และมูลค่าการ นำเข้า 1,914.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.11 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าออสเตรเลีย 913.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ไทยได้ดุลออสเตรเลีย 203.06 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าบางรายการมีการขยายตัวมาก อาทิ ส่วนประกอบของยานยนต์ (กันชน ผ้าเบรก กระปุกเกียร์) ส่วน ประกอบเครื่องยนต์ ลวดและเคเบิลที่หุ้มฉนวน รถปิกอัพและรถจักรยานยนต์ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณ ชุดไฟรถยนต์ เครื่องหอมและเครื่องสำอาง เช่น แชมพู ยาสีฟัน เป็นต้น

โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อการใช้สิทธิพิเศษ ภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 จำนวน 34,730 ฉบับ เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,957.31 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69.19 ของมูลค่าการส่งออกรวมไปออสเตรเลีย สำหรับรายการสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกโดยใช้สิทธิพิเศษฯ ได้แก่ รถบรรทุกชนิดแวนและปิกอัพ รถพยาบาล เครื่องปรับอากาศ ปลาที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย และส่วนประกอบยานยนต์ เป็นต้น


หน้า 6