สินค้าจีนท่วมตลาดฉุดอุตฯไทยดิ่งเหว "ทุนเท็กซ์"ดิ้นผลิตโพลีเอสเตอร์รถยนต์
 


"ทุนเท็กซ์" ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เลิกผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สำหรับสิ่งทอ ทั้งที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 25% หันไปผลิตโพลีเอสเตอร์ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แทน ด้าน สศอ.เผยผู้ผลิตโพลีเอสเตอร์ 3-4 รายสนใจขยายเพิ่มกำลังการผลิตแทนกำลังการผลิตของทุนเท็กซ์ มั่นใจไม่กระทบสิ่งทอกลางน้ำ-ปลายน้

 

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงทิศทางของอุตสาหกรรมสิ่งทอในปี 2551 ว่า ภาวะการลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงกลางปีที่ผ่านมา บริษัท ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์รายใหญ่ของประเทศ ได้ยุติการผลิตในส่วนของผลิตภัณฑ์ "เส้นใยโพลีเอสเตอร์" สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอปีละ 200,000 ตัน แต่หันไปผลิต "โพลีเอสเตอร์" รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทำราคาดีกว่าแทน โดยในส่วนของโพลีเอสเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอก็ย้ายไปผลิตในประเทศอื่นที่มีศักยภาพแข่งได้มากกว่าในประเทศไทย

สาเหตุที่บริษัททุนเท็กซ์ได้ยุติการผลิตโพลีเอสเตอร์สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอลง เนื่องจากปัจจัยหลัก 3 ประการคือ 1)ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องประสบกับภาวการณ์แข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง 2)ไม่สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ทดแทนที่มีราคาถูกกว่าได้ เช่น ฝ้าย, ไนลอน และเรยอง และ 3)กำลังการผลิตโพลีเอสเตอร์ในจีนเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าราคาถูกของจีนทะลักเข้ามาในไทยจำนวนมาก และผู้ประกอบการไทยเองก็นิยมที่จะนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาเป็นวัตถุดิบในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำนั้น เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ปริมาณการผลิตโพลีเอสเตอร์ปีละ 200,000 ตัน ที่บริษัททุนเท็กซ์ได้ยุติการผลิตไปนั้น อาจจะก่อให้เกิดการขาดแคลนได้ จึงเป็นเหตุผลให้บริษัทผู้โพลีเอสเตอร์รายใหญ่ประมาณ 3-4 ราย สนใจที่จะขยายกำลังการผลิตโพลีเอสเตอร์เพื่อมาชดเชยปริมาณผลิตที่หายไป

"ปริมาณการผลิตโพลีเอสเตอร์โดยรวมของไทยอยู่ที่ปีละ 800,000-900,000 ตัน ซึ่ง 200,000 ตันที่บริษัททุนเท็กซ์ได้หยุดการผลิตไปนั้น คิดเป็นสัดส่วนการถือครองตลาดอยู่ประมาณ 25% ดังนั้นจึงอาจเป็นผลให้เกิดการขาดแคลนโพลีเอสเตอร์ได้ เร็วๆ นี้คาดว่าจะมีผู้ประกอบการออกมาประกาศการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตโพลีเอสเตอร์อย่างแน่นอน" แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายสันต์ อุปพัทธางกูร กรรมการบริหาร บริษัท ปากน้ำเท็กซ์ไทย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณโพลีเอสเตอร์ที่ผลิตภายในประเทศกับปริมาณนำเข้าถือว่า เพียงพอต่อความต้องการใช้ แม้บริษัททุนเท็กซ์จะยุติการผลิตแล้วก็ตาม ดังนั้นการที่จะมีผู้ผลิตลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตโพลีเอสเตอร์กำลังการผลิตอาจจะเป็นไปได้ แต่คาดว่าจะเน้นการส่งออกเป็นหลัก

นายโสฬาร สุทธิคณาศัย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยืนยันกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางบริษัทยังไม่ปิดกิจการ เรายังดำเนินกิจการอยู่ แต่ยอมรับว่ามีการลดกำลังการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ลง เนื่องจากราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบปรับราคาสูงขึ้น หากทำมากจะขายขาดทุน จึงแค่รักษาตลาดเดิมไว้ ทั้งนี้เรายังมีการจ้างคนงาน 100 กว่าคน เพื่อผลิตเส้นใยสังเคราะห์

รายงานข่าวจากวงการเส้นใยสังเคราะห์ เปิดเผยว่า บริษัททุนเท็กซ์มีบริษัทแม่อยู่ที่ไต้หวัน ที่ผ่านมามีปัญหา เนื่องจากบริษัทแม่ที่ไต้หวันปิดกิจการและทางบริษัททุนเท็กซ์ในไทยกำลังอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมทุนใหม่ ทำให้มีกระแสข่าวตั้งแต่ต้นปี 2550 ว่า ทางบริษัทขาดสภาพคล่องและจะปิดกิจการ ทั้งนี้บริษัททุนเท็กซ์มีการจ้างคนงานประมาณ 1,000 คน

อย่างไรก็ตามการลดกำลังการผลิตของ บริษัททุนเท็กซ์จะไม่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากยังมีบริษัทที่ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์อีก 8-9 บริษัท

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวถึงภาวะของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ว่า ช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม) ที่ผ่านมาการส่งออกสิ่งทอมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เป็นผลมาจากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอไปยังประเทศกลุ่มอาเซียน อาทิ เวียดนาม, กัมพูชา และลาว โดยคาดว่าในปี 2550 นี้อุตสาหกรรมสิ่งทอจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

ขณะนี้มีบริษัทใหญ่ในกลุ่มผลิตเส้นใยโพลี เอสเตอร์ที่มีอยู่เดิม สนใจจะขยายกำลังการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ในปริมาณที่ทุนเท็กซ์ยกเลิกการผลิต โดยมีการเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน เดิมการวางแผนการผลิตไว้ แต่ยังไม่เต็มการผลิต ซึ่งในส่วนนี้ก็จะเพิ่มกำลังการให้ได้เต็มกับที่สร้างไว้ตั้งแต่ต้น ในอดีตมีการแข่งขันได้ราคา และมีการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาภายในประเทศจำนวนมาก จึงเป็นเหตุผลให้บริษัททุนเท็กซ์ ไม่สามารถดำเนินการผลิตในส่วนนี้ต่อได้

บ.ทุนเท็กซ์ ประเทศไทย มีแผนเพื่อดำเนินการผลิต non-woven โพลีเอสเตอร์รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในเดือนมิถุนายน 2549 โดยโพลีเอสเตอร์สายใหม่ที่จะดำเนินการผลิตจะมีกำไรสูงกว่าผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน โดยบริษัทได้ทำการปรับปรุงโรงงานผลิตโพลีเอสเตอร์ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 โดยปัจจุบันกำลังการผลิตรวมประมาณ 256,000 ตันต่อปี


หน้า 7
 

ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ   4 ตุลาคม พ.ศ. 2550