ที่มา :ผู้จัดการออนไลน์

18 กันยายน 2550

หนุนผปก.ทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งเป้า 2 แสนไร่ในปี 2552

       ก.เกษตรฯเดินหน้าหนุนผู้ประกอบการหันทำเกษตรอินทรีย์รองรับความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งเป้าภายในปี 2552 ไทยจะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ มุ่งเป้าไปที่ ข้าว กุ้ง ผัก และสมุนไพรรองรับตลาดสปา พร้อมเตรียมดัน 4 มาตรการเข้าครม.ช่วยกลุ่มเกษตรอินทรีย์
       
       นายรุ่งเรื่อง อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้มีโครงการที่จะพัฒนาพื้นที่เกษตรของไทยให้เข้าสู่ระบบการทำเกษตรอินทรีย์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2552ประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่ทำโครงการเกษตรอินทรีย์ให้ได้ 200,000ไร่ ในขณะที่ปัจจุบันการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูก 136,634 ไร่ ซึ่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น จีน และอินเดียพบว่า ประเทศไทยยังเพิ่มการผลิตได้ช้ากว่ามาก โดยในครั้งนี้มุ่งไปที่สินค้าเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว กุ้ง ผัก และสมุนไพร
       

       ทั้งนี้ ที่เลือกสินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิด เพราะเป็นสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกมาก และในส่วนของสมุนไพรที่เลือกมาเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ในครั้งนี้ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องป้อนให้กับสปา จึงต้องการผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารพิษ ประกอบกับผลิตภัณฑ์สปาในบ้านเรากำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ส่วน ข้าว กุ้งและผัก เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีการส่งออกจำนวนมากอยู่แล้ว
       
       สำหรับลักษณะการทำเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ การผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่อิงธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นการเกษตรในแนวทางการเกษตรทฤษฎีใหม่ของเกษตรกรรายย่อย และกระทรวงเกษตรฯได้เข้าไปสนับสนุนในลักษณะของศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน และการผลิตแบบที่สอง เป็นลักษณะเกษตรรายใหญ่เป็นการผลิตปริมาณมากเพื่อการค้า เช่น กลุ่มข้าวอินทรีย์ของบริษัทนครหลวงค้าข้าว บริษัทรังสิตฟาร์ม เป็นต้น
       
       นายรุ่งเรื่อง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯยังได้มีมาตรการใน 4 เรื่อง ที่จะนำเข้าเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน ได้แก่ ประการแรก การเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ซื้อเข้าด้วยกันเพื่อให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการของตลาดและความสามารถในการผลิตโดยผู้ผลิตจะได้รับรู้ความต้องการของตลาด และส่วนผู้ซื้อก็จะได้รู้ว่าผู้ผลิตอยู่ที่ใดบ้าง มาตรการที่ สอง การจัดระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกิดความชัดเจน มาตรการที่สาม สนับสนุนด้านการตลาดซึ่งจะเน้นสร้างความเข้าใจระหว่างเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดสารพิษ มาตรการที่สี่ สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่อยู่ในระยะปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรไปสู่เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นช่วงไม่มีรายได้