สหรัฐส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจศูนย์ฉายรังสีผลไม้ไทย

 

ที่มา  :ประชาชาติธุรกิจ

18 ตุลาคม 2550

 

    สหรัฐฯส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจรับรองศูนย์ฉายรังสีผลไม้ไทย คาดไร้ปัญหา พร้อมส่งออกได้ตั้งแต่ 1 พ.ย. นี้ ตั้งเป้าปีแรกได้ 2- 3 หมื่นตัน มกอช. เตรียมเจรจาขอเปิดตลาดเพิ่ม แก้วมังกร ฝรั่ง มะละกอ ชมพู่ จ่อคิวรับข่าวดี

    กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :      รายงานข่าวจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯได้ส่ง Mr.Ian  Winborne  ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการฉายรังสี เข้ามาตรวจรับรองศูนย์ฉายรังสีผลไม้ของไทยแล้ว  และระบุว่า ไม่น่ามีปัญหา ต่อการฉายรังสีผลไม้  เพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ  แต่ถ้ามีจุดที่ต้องปรับปรุง ทางสหรัฐฯจะช่วยให้คำแนะนำฝ่ายไทยโดยจะเร่งปรับปรุงแก้ไขให้เสร็จสมบูรณ์ และพร้อมที่จะส่งออกได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 นี้เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ ผลไม้ที่สามารถใช้วิธีการฉายรังสีในตลาดดังกล่าว ได้รับการอนุญาตแล้วจำนวน 6 ชนิด  คือ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด  เงาะ และสับปะรด ในช่วงปีแรก คาดว่าไทยจะส่งออกได้ 20,000 - 30,000 ตัน โดยเฉพาะมังคุดถือเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสูง ทั้งยังมีประเทศคู่แข่งน้อย ไทยน่าจะผลักดันส่งออกได้ค่อนข้างมาก   นอกจากนี้  มกอช.ได้เตรียมประสานหน่วยงานทั้งฝ่ายไทย และสหรัฐฯ เพื่อศึกษาประเมินความเสี่ยงศัตรูพืช  ของผลไม้ชนิดอื่นเพิ่มเติม เช่น แก้วมังกร ฝรั่ง มะละกอ และชมพู่ เพื่อเปิดตลาดในสหรัฐฯ  ในอนาคต ด้วย

    “มกอช. ได้ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.จัดตั้งค่าใช้จ่ายในการนำผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯมาตรวจรับรองศูนย์ฉายรังสีของไทย แทนภาคเอกชน เพื่อให้การเปิดตลาดมีความต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเอกชนอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงงานฉายรังสีผลไม้เพื่อส่งออกเองในอนาคต” แหล่งข่าว จาก มกอช.  กล่าว

    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มกอช.ได้เตรียมความพร้อมภาคเอกชนและผู้ประกอบการของไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดสัมมนาแนวทางการปฏิบัติเพื่อการส่งออกผลไม้ไปยังสหรัฐฯให้แก่ผู้ส่งออก เกษตรกร และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และยังถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการฟาร์ม โรงคัดบรรจุสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการ ข้อปฏิบัติของผู้ส่งออกและการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออก ข้อปฏิบัติในการนำผลไม้เข้าฉายรังสี  ขนาดกล่อง  การบรรจุหีบห่อ  การติดฉลากและต้นทุนการฉายรังสี การตรวจสอบศัตรูพืชหลังการฉายรังสีและการออกใบรับรองสุขภาพอนามัยพืชก่อนส่งออกด้วย