ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ

17 กันยายน 2550

 

     นโยบาย"ทำให้ต่างชาติเสียคน"บรรลุผล ได้เวลา"จีน"เฉดหัว"ทุนนอก"



ตลอด 3 ทศวรรษแรกของการปฏิรูปเศรษฐกิจ จีนได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการเอาอกเอาใจต่างชาติเป็นพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างรวดเร็ว เพราะรู้ดีว่าเป็น "ทางลัด" เดียวที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างทันใจ

รัฐบาลจีนจูงใจต่างชาติทั้งด้วยการใช้มาตรการทางภาษีและให้สิทธิประโยชน์นานาชนิด โดยมีการเลือกปฏิบัติแตกต่างจากบริษัทจีนแท้ๆ หรือบริษัทท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด เช่นกรณีภาษีนิติบุคคล เก็บจากบริษัทต่างชาติเพียง 14% แต่เก็บจากบริษัทจีนถึง 24% ทำให้บริษัทจีนโวยวายมาตลอด

แต่รัฐบาลจีนก็ฉลาดมากพอที่จะปล่อยให้บริษัทท้องถิ่นโวยวาย เพื่อรอเวลาอันสมควร นั่นคือช่วงที่เศรษฐกิจบูมได้ที่ จากนั้นจึงจะถึงเวลาหันมา "ติดเขี้ยวเล็บ" และสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับบริษัทท้องถิ่น โดยให้บริษัทท้องถิ่นได้มีเวลาค่อยๆ ปรับตัว ขณะเดียวกันช่วงที่รอคอยนั้นก็มีการเรียนรู้เทคโนโลยี การบริหารจัดการจากต่างชาติ เพื่อที่วันหนึ่งจะนำความรู้ความสามารถนั้นกลับมาบริหารบริษัทท้องถิ่นให้ทัดเทียมพร้อมที่จะแข่งขันกับต่างชาติ เพราะหลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ในปี 2544 แล้ว ย่อมมีภาระผูกพันที่จะต้องเปิดการแข่งขันเสรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เวลาที่รอคอยนั้นมาถึงแล้ว หลังจากเศรษฐกิจจีนขยายตัวในระดับเลขสองหลักติดต่อกันหลายปี เกินดุลการค้ามหาศาล เฉพาะปีที่แล้วเกินดุลกว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ปีนี้คาดว่าจะเกินดุลมากขึ้นไปอีกเป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์

ผลที่ติดตามมาก็คือ "จีน" มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดในโลก 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นสภาพคล่องที่ล้นทะลักอย่างมาก ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นบูมอย่างน่าเสียวไส้ อัตราการเติบโตสูงจนน่าตกใจ แม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการเข้มงวด ทั้งขึ้นดอกเบี้ย 4 รอบในปีนี้ และสั่งให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการกันสำรองอีกหลายรอบเพื่อชะลอการเติบโตของสินเชื่อ แต่ดูเหมือนจะฉุดรั้งไว้ได้ยาก

สิ่งที่น่าห่วงอีกประการหนึ่งก็คือเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่สูง 6.5% ในเดือนที่แล้ว สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กันยายน ธนาคารโลกได้ปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้จาก 10.4% เป็น 11.3%

ทุนสำรองที่ล้นทะลัก ทำให้รัฐบาลจีนต้องหาทางระบายเงินเหล่านี้ออกไปนอกประเทศด้วยการตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการเพื่อนำทุนสำรองไปลงทุนหารายได้ องค์กรนี้มีรูปแบบคล้ายบรรษัทการลงทุน "เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์" ของรัฐบาลสิงคโปร์

ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงเกินไป จะส่งผลให้ค่าเงินหยวนแข็งจนกระทบต่อความสามารถในการส่งออก ดังนั้น นอกจากจะต้องบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยการระบายออกไปลงทุนนอกประเทศแล้ว จีนยังต้องหาทางสกัดไม่ให้เงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาด้วย ส่วนอีกขาหนึ่งนั้นก็พยายามส่งเสริมให้จีนมีการนำเข้ามากขึ้น เปิดทางผ่อนคลายให้เอกชนสามารถไปลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

กล่าวได้ว่า เวลานี้จีนไม่ได้ต้องการหรือโหยหาพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศแบบจะเป็นจะตายอีกต่อไป แต่ในทางตรงกันข้ามกลับแสดงอาการ "ไล่" เงินทุนต่างชาติโดยอ้อม

ขณะเดียวกันการที่ตลาดส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักและสำคัญที่สุดของจีนเริ่มมีความเสี่ยงเกิดความไม่แน่นอน โดยเฉพาะภายหลังจากเกิดวิกฤตสินเชื่อบ้านที่ปล่อยกู้แก่ผู้มีเครดิตต่ำกว่ามาตรฐาน (ซับไพรม์) ในสหรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งเป็นลูกค้าใหญ่ของจีนจะชะลอลง หมายถึงว่าสหรัฐจะมีความสามารถในการซื้อสินค้าน้อยลง

ความไม่แน่นอนของตลาดภายนอกดังกล่าว ทำให้รัฐบาลจีนมุ่งหันมาใช้การ "บริโภคภายใน" เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อลดการพึ่งพาส่งออก เห็นได้จากการที่ยอดขายค้าปลีกขยายตัวต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคมขยายตัวถึง 17.1% เพิ่มจากเดือนกรกฎาคมที่ขยายตัว 16.4% เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีนี้ค้าปลีกเติบโต 15.7%

ทิศทางดังกล่าวสอดคล้องกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์จากเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) เมื่อเร็วๆ นี้ที่แนะว่าเนื่องจากชาวจีนมีรายได้มากขึ้น มีคนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ดังนั้น จีนควรจะใช้การบริโภคภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะตลาดส่งออกเริ่มมีความไม่แน่นอน

นอกจากนี้การที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมากนั้น จีนไม่ได้เป็นตลาดที่มีแรงงานถูกในสายตานักลงทุนอีกต่อไป แต่เป็นตลาดบริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าแล้ว เพราะว่าประชาชนมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง

ต่อมาในการประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่ออสเตรเลียเมื่อต้นเดือนกันยายน ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐ ที่ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาล ก็พูดอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ชาวจีนควรจะใช้จ่ายให้มากขึ้นเพื่อที่สินค้าจากสหรัฐจะได้ขายได้ ต้องปรับเปลี่ยนจากสังคม "เก็บออม" ไปสู่สังคม "บริโภค" พร้อมกับกระตุ้นให้รัฐบาลจีนจะต้องจัดสร้าง "ตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม" (social safety net) ซึ่งหมายถึงการจัดหาสวัสดิการเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน เช่นมาตรการช่วยเหลือเมื่อตกงาน การจัดหาระบบประกันสุขภาพแบบครบวงจร เพื่อที่ว่าชาวจีนจะได้กล้าใช้จ่ายเงิน โดยไม่ต้องพะวงกับการเก็บออมเพื่อเลี้ยงดูชีวิตมากเกินไป

ในห้วงเวลาปัจจุบันที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวสูงที่สุดในโลก มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลก และเกินดุลการค้ามหาศาล ซึ่งมากเสียจนน่ากลุ้มใจเพราะส่งผลกระทบให้เกิดความตึงเครียดทางการค้ากับประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐและยุโรป ทำให้นักวิเคราะห์มองว่านโยบายของจีนที่เรียกว่า "ทำให้ต่างชาติเสียคน (spoil-the-foreigners policy) พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าช่วยให้จีน "ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม" ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

spoil-the-foreigners policy ก็คือสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น คือการให้สิทธิพิเศษสารพัดแก่ต่างชาติเหนือบริษัทท้องถิ่น การผ่อนคลายกฎระเบียบทุกอย่างเพื่อดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน

แต่เมื่อนโยบายนี้ได้ผลแล้ว สำเร็จแล้วก็ถึงเวลาที่จะเลิกโอ๋ บางทีก็ "ไล่" เงินต่างชาติ หรือถึงไม่ไล่ก็สกัดไม่ให้เข้ามาเพิ่ม

การเลิกโอ๋ต่างชาติเริ่มจากช่วงประมาณต้นปีนี้ รัฐบาลจีนยกเลิกการเก็บภาษีนิติบุคคลแบบสองมาตรฐานหรือสองอัตรา แล้วเปลี่ยนมาเก็บเท่ากัน 25% ทั้งบริษัทจีนและบริษัทต่างชาติ แม้จะทำให้บริษัทต่างชาติบางส่วนไม่พอใจอยู่บ้างก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่โวยวายมากเพราะเห็นว่าตัวเองก็ได้รับสิทธิประโยชน์มานานพอสมควร

ล่าสุด เมื่อปลายเดือนสิงหาคม รัฐสภาจีนได้ผ่านกฎหมาย "ต่อต้านการผูกขาด" ซึ่งถูกนักวิเคราะห์มองว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายครั้งใหญ่ และก็เชื่อว่ากฎหมายนี้ออกมาเพื่อ "อุ้ม" บริษัทจีนโดยเฉพาะ

กฎหมายนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนบริษัทต่างชาติที่กำลังวางแผนจะควบกิจการหรือซื้อกิจการบริษัทจีน หลังจากรัฐบาลตระหนักว่าการควบรวมกิจการโดยต่างชาติได้สร้างความแข็งแกร่งแก่บริษัทต่างชาติเหนือบริษัทจีนขึ้นทุกขณะ

ขณะเดียวกันการควบรวมกิจการหรือการซื้อหุ้นกิจการโดยต่างชาติ ไม่ได้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจมากนัก แต่กลับเพิ่มเงินเข้าไปในระบบ แต่ขณะนี้จีนมีเงินมากเกินไปจนล้นประเทศแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องการเพิ่มอีก นโยบายในขณะนี้ของจีนก็คือการลดการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติและกระตุ้นให้เงินทุนไหลออก แทนการดึงดูดเงินทุนเข้ามา

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาในรูปของการควบรวมและซื้อกิจการนั้นมีสัดส่วนค่อนข้างสูง จากเดิมที่มีมูลค่า 5% ของเงินลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ในปี ค.ศ.2003 ก็เพิ่มเป็น 11% ใน ค.ศ.2004 และเพิ่มเป็น 20% ใน ค.ศ.2005

ปัจจุบันจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมนี แต่หลายสำนักพยากรณ์ว่าเมื่อดูจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ค่อนข้างแน่ว่าปีนี้จีนจะแซงเยอรมนีขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก


หน้า 20