ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ

17 กันยายน 2550

"อะเมซอน-กูเกิล" ลุย "E-book" ธุรกิจน้องใหม่ที่น่าจับตา

ฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังมาถึงคงจะเป็นฤกษ์ดีของ 2 ค่ายใหญ่แห่งวงการอินเทอร์เน็ต "อะเมซอน" และ "กูเกิล" ที่มี แผนจะบุกธุรกิจดิจิทัลที่น่าสนใจอีก ประเภทหนึ่ง นั่นคือ อิเล็กทรอนิกส์-บุ๊ก หรืออีบุ๊ก

(E-book)

นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า เดือนตุลาคมนี้ร้านค้าปลีกออนไลน์ชื่อดังอย่าง "อะเมซอน" (Amazon.com) จะส่ง "คินเดิล" (Kindle) อุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ฉบับพกพา ราคา 400-500 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเสนอหัวเรื่องให้หนอนหนังสือเลือกอ่านกว่า 4 หมื่นเรื่อง

"คินเดิล" ประกอบด้วยคีย์บอร์ด เว็บ บราวเซอร์ ที่สามารถใช้จดโน้ต หรือค้นหาข้อความที่ต้องการ และสามารถเชื่อมต่อไร้สายเข้าสู่เว็บไซต์ของอะเมซอนได้โดยไม่ต้องต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์

มากกว่านั้น อุปกรณ์ชิ้นนี้ยังให้บริการอ่านหนังสืออ้างอิงของอะเมซอน และยังให้ลูกค้าเลือกเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ไทม์ส, เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล หรือหนังสือพิมพ์เลอ มอลเต้ ของฝรั่งเศส ได้ฟรีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสำนักพิมพ์หลายแห่งเห็นว่า การเข้ามาสู่โลกอีบุ๊กของอะเมซอนนั้น ถือเป็นบททดสอบหลักถึงความคิดที่ว่า สักวันหนึ่งสื่อหนังสือและหนังสือพิมพ์จะถูกบริโภคในรูปแบบดิจิทัลได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง "กูเกิล" ก็มีแผนเดินหน้าเรื่องการให้บริการอ่านหนังสือบนโลกออนไลน์เช่นกัน เหตุผลเพราะ 2 ปีที่ผ่านมา โปรแกรมค้นหาหนังสือของกูเกิล (Google Book Search Parter Program) นั้น สำนักพิมพ์ต่างๆ จะจัดหาหนังสือเวอร์ชั่นดิจิทัลบางส่วนใส่ไว้ในฐานข้อมูลของกูเกิลเพื่อให้คนสนใจได้เข้ามาอ่าน โดยทางกูเกิลให้สัญญาว่าในอนาคตจะเก็บเงินและนำรายได้มาแบ่งกัน

ดังนั้น ก่อนสิ้นปีนี้หากผู้ต้องการอ่านหนังสือทางออนไลน์ผ่านกูเกิลอาจจะต้องเสียเงินเพื่ออ่านหนังสือเวอร์ชั่นเต็มและถูกลิขสิทธิ์ตามราคาบนปกหนังสือเล่มนั้น และเงินที่ได้กูเกิลก็จะแบ่งให้กับทางสำนักพิมพ์ส่วนหนึ่ง

ทั้งนี้ อะเมซอนและกูเกิลไม่ได้กล่าวถึงแผนงานทางธุรกิจอื่นๆ แต่อย่างใด และไม่ได้พูดถึงความคาดหวังในการบุกธุรกิจหนังสือที่มีมูลค่าสูงถึง 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีด้วย

แต่การให้บริการในครั้งนี้ของสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการอินเทอร์เน็ต จะเป็นตัวช่วยตอบคำถามว่า ผู้บริโภคพร้อมหรือยังที่จะอ่านหนังสือบนหน้าจอสกรีนแทนบนหน้ากระดาษที่มีมานับพันๆ ปี

"หนังสือเป็นตัวแทนที่ค่อนข้างมีคุณค่าที่ดีสำหรับผู้บริโภค พวกเขาสามารถโชว์ หรือส่งต่อให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้" ไมเคิล การ์เตนเบิร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจูปิเตอร์ รีเสิร์ช ผู้ซึ่งไม่เชื่อว่ารายได้จากตลาดของอีบุ๊กจะมาเป็นที่นิยมในเร็วๆ นี้

"พวกเราใช้เวลาในการศึกษาอุปกรณ์อีบุ๊กในตลาดเป็นเวลามากกว่าสิบปี และผลที่ตามมาด้านรายได้ดูเหมือนว่าจะไม่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันใกล้นี้"

หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของอีบุ๊ก พบว่าในปลาย พ.ศ.2530 ซิลิคอน วัลเล่ย์ ได้สร้าง "ร็อกเกตบุ๊ก" (RocketBook) และ "ซอฟต์บุ๊ก รีดเดอร์" (SoftBook Reader) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะมีขนาดใหญ่เทอะทะ และมีตัวเลือกของหนังสือในปริมาณที่จำกัด จึงทำให้ยอดขายไม่เป็นดังเป้าที่ต้องการ

แต่ความหวังของอีบุ๊กกลับเริ่มสดใสขึ้นอีกครั้ง เมื่อปีที่แล้วโซนี่เปิดตลาดให้กับอีบุ๊ก โดยส่ง

"โซนี่รีดเดอร์" ราคา 300 ดอลลาร์สหรัฐ หน้าจอขนาด 6 นิ้ว สามารถจดจำหนังสือได้ 80 เล่ม และเปิดอ่านได้ถึง 7,500 หน้า โดยมีหนังสือดิจิทัลกว่า 18,000 เรื่องจากทั่วโลก พร้อมการรายงานข่าวจากบิสซิเนส วีก มานำเสนอลูกค้า

โซนี่ไม่ได้ให้ข้อมูลว่าสามารถสร้างยอดได้เท่าไร แต่มีสัญญาณอย่างชัดเจนว่า โซนี่รีดเดอร์สามารถโตได้ด้วยดี เนื่องจากโซนี่ได้ทุ่มโฆษณาสินค้าชนิดนี้มากขึ้นตามเว็บไซต์ หลักๆ ของอเมริกา

"การอ่านหนังสือรูปแบบดิจิทัลไม่ได้มาแทนการอ่านหนังสือเล่ม แต่มันมาแทนตั้งหนังสือ จำนวนมากๆ ดังนั้นจะเห็นว่า ไม่ว่าที่ใดก็ตาม เราจะเห็นผู้คนที่กำลังเดินอยู่ในรถไฟใต้ดิน สนามบิน ถืออุปกรณ์ของเรา" รอน ฮาวกิ้นส์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายระบบการอ่านหนังสือเคลื่อนที่ ค่ายโซนี่ กล่าว

ด้าน แมทซ์ ซาตส์ ผู้ช่วยประธานฝ่ายดิจิทัล แห่งสำนักพิมพ์แรนดอม เฮาส์ กล่าวว่า "ช่วง 6-12 เดือนที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณและพลังที่น่ากลัวอย่างมากของอีบุ๊ก ทำให้ปัจจุบันเราได้มีการจัดหาหัวเรื่องของหนังสือเพื่อทำอีบุ๊กให้มากขึ้น โดยมีแผนที่จะเพิ่มอีบุ๊กเป็น 6,500 เรื่องในปีหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3,500 เรื่อง"

ถึงแม้ว่าโครงการทั้ง 2 ของอะเมซอน และ กูเกิล จะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ก็ได้สร้างความสงสัยให้กับร้านค้าปลีกหนังสือเล่มอยู่ดี

"สตีเฟ่น ริกจิโอ" ผู้บริหาร บาร์ แอนด์ โนเบิล ร้านขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา โต้แย้งว่า คนส่วนใหญ่ยังให้มูลค่าแก่หนังสือที่เป็นกระดาษอยู่ และจะไม่เปลี่ยนไปอ่านหนังสือในรูปแบบของดิจิทัล แต่อย่างไรก็ตามบาร์ แอนด์ โนเบิล ก็มีแผนที่จะแข่งกับกูเกิลและอะเมซอน โดยปีหน้าทางร้านจะมีการนำหนังสือเวอร์ชั่นเต็มฉบับดิจิทัลขึ้นบนหน้าเว็บไซต์ รวมถึงจะมีการสร้างรีดเดอร์อิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองขึ้นมาด้วย


หน้า 38