FTA อาเซียน-อียู
Synergy ลดภาษีเชิงบูรณาการ
การเจรจาจัดทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป
เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 หลังจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ
(vision group)
ได้นำเสนอแนวทางนี้ในที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและกรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรปเมื่อ
2 ปีก่อน
ที่ผ่านมาอาเซียนและสหภาพยุโรป (อียู)
ถือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญต่อกันมาก
โดยในภาคการค้าสินค้าอาเซียนส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
จากปี 2545 ส่งออกมูลค่า 61,320 ล้านยูโร
และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นมูลค่า 78,785 ล้านยูโร
ในปี 2548 แต่เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการ
ส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรปกลับลดลงจากร้อยละ 14.97 เหลือเพียงร้อยละ
12.90
เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงของสินค้าจากจีนที่เข้าไปเจาะตลาดสหภาพยุโรปมากขึ้น
ขณะที่ภาคการลงทุนในปี 2548
สหภาพยุโรปลงทุนในอาเซียนเป็นลำดับที่สอง มีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ
18.7 คิดเป็นมูลค่า 7,122 ล้านเหรียญสหรัฐ
รองจากการลงทุนจากสหรัฐซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 23 คิดเป็นมูลค่า 8,748
ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งนับได้ว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญทั้งในภาคการค้าและการลงทุน
พาณิชย์คาดเริ่มเจรจาต้นปี"51
นางสาวเก็จพิรุณ เกาะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักยุโรป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า
ยุโรปถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เป็นตลาดหลักส่งออกสินค้าไทย
โดยในปี 2549 ไทยส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรปมูลค่า 14,294 ล้านยูโร
ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 จากปีก่อน และนำเข้าจากสหภาพยุโรป
8,807 ล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1
โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 5,487 ล้านยูโร
สำหรับสินค้าหลักที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตร
ส่วนสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากสหภาพยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเครื่องจักร
ไทยมองว่า การเจรจาเอฟทีเออาเซียน-สหภาพยุโรปจะช่วยให้เกิดประโยชน์เชิงบูรณาการ
(synergy) มากกว่าการเจรจาแบบทวิภาคี จึงเห็นด้วยที่จะเริ่มเจรจา
ที่ผ่านมาได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันไปเกี่ยวกับการเจรจาที่ผ่านมาของทั้งสองฝ่าย
คาดว่าจะได้รูปแบบการลดภาษี (modality) ในเดือนพฤศจิกายนนี้
และจะเริ่มเจรจาครั้งแรกได้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2551
"กรอบการเจรจาก็จะประกอบด้วยภาคการเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน
และอาจจะมีความร่วมมือด้านอื่น
สิ่งที่ไทยคาดหวังว่าจะได้จากการเจรจาการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปซึ่งปัจจุบันยังมีภาษีสูง
เช่น ข้าว ไก่แปรรูป ปลากระป๋อง การลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมที่
บางรายการยังมีภาษีเกินร้อยละ 5 เช่น รถบรรทุกชนิดแวนหรือปิกอัพ
ชุดชั้นใน เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องบันทึกวิดีโอ
การเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และขยายการลงทุน"
ภาคเอกชนหวังอียูลดภาษีเกษตร
ด้าน ดร.ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา
รองประธานคณะกรรมการกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า
ขณะนี้ภาคเอกชนเตรียมสรุปข้อเสนอเกี่ยวกับรูปแบบการลดภาษีสินค้าให้กับกรมเจรจาฯ
รวมถึงเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า
มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี
และความร่วมมือของสหภาพยุโรปซึ่งจะต้องทำอย่างรอบคอบ
ข้อเสนอเบื้องต้นในส่วนของการลดภาษีสินค้า
คือสินค้าที่ไทยสามารถลดภาษีให้กับสหภาพยุโรปได้ โดย
สินค้าที่สามารถลดเหลือ 0% ทันที (ปี 2553) อาทิ กาแฟพร้อมดื่ม
กระเป๋าหนังประเภทต่างๆ ข้าว กลุ่มสินค้าที่เสนอลดเหลือ 0%
ในระยะเวลาที่กำหนด (ปี 2555, ปี 2558, ปี 2563) อาทิ ปลาป่น (ปี
2563) นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาถึง
กลุ่มสินค้าอ่อนไหวที่ไม่สามารถลดภาษีเหลือ 0% ได้
ซึ่งอาจจะต้องมีการกำหนดปริมาณนำเข้า/มีมาตรการ special safeguard
ไม่ต้องการลดภาษี ลดแบบมีเงื่อนไข อาทิ พลาสติก/ของทำด้วยพลาสติก
สิ่งทอ
ในส่วนของสินค้าที่ภาคเอกชนต้องการเสนอให้สหภาพยุโรปลดภาษีให้เหลือ
0% สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญๆ ของไทย เช่น ผลไม้บางประเภท อาทิ
ส้มโอ ทุเรียน มังคุด ลำไย มังคุด, หนังโค กระบือ ฟอก, กลุ่ม PVC
อาทิ โพลีเมอร์ของไวนิลคลอไรด์, ข้าว, ปากกาลูกลื่น
ไส้ปากกาลูกลื่น, สับปะรดกระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง อาทิ แซลมอน
ซาร์ดีน ปู กุ้ง, ผัก ผลไม้ กระป๋อง, ซอส เครื่องแกงต่างๆ เป็นต้น
"ทั้งยังจะเสนอให้สหภาพยุโรปคงอัตราภาษีต่ำสำหรับรายการสินค้าที่สหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร
(GSP) แก่ไทยในรอบปัจจุบัน
รวมถึงกลุ่มที่ได้จีเอสพีแบบมีเงื่อนไขต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า
หนังดิบ/ฟอก รองเท้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
เสนอให้อียูลดภาษีในรายการสินค้ามีภาษีนำเข้าสูงและไม่ยอมลดในกรอบ
WTO รวมถึงสินค้าโควตาภาษี เช่น ไก่ปรุงสุก ซึ่งไทยได้โควตาจาก EU
160,000 ตัน/ปี ภาษีในโควตาร้อยละ 8 ส่วนนอกโควตาจะเสียภาษี 1,024
ECU/ตัน" ดร.ปิยะนุชกล่าว
เตือนศึกษาแหล่งกำเนิดสินค้าก่อนเจรจา
ในส่วนกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ประโยชน์จากการลดภาษี
ดังนั้นจะเสนอให้หากมีการใช้กฎฯสะสม
ภาคเอกชนต้องศึกษาประโยชน์จากการสะสมวัตถุดิบร่วมกัน เช่น
ไทยสามารถนำวัตถุดิบจากอาเซียน ยกเว้น พม่ามาสะสมได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ควรมีการเจรจาแหล่งกำเนิดสินค้าในกรอบ FTA อื่นๆ
ที่ไม่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศถึงร้อยละ 40
ให้สำเร็จภายใต้กรอบ ASEAN-EU เช่น อาหารทะเลแปรรูปกลุ่ม
ทูน่ากระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้าบางรายการ อัญมณีและเครื่องประดับ
หนังฟอก เครื่องหนัง เครื่องสำอาง เครื่องเขียน สี เป็นต้น
นอกเหนือจากการลดภาษีและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าแล้ว
ไทยและสหภาพยุโรปควรมีความร่วมมือที่ดีต่อกันในการลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี
เพราะขณะนี้สหภาพยุโรปเป็นประเทศที่มีความเข้มงวดในด้านนี้มาก
ถ้าหากทั้งสองฝ่ายสามารถหาแนวทางเพื่อยอมรับมาตรฐานต่างๆ ร่วมกัน
ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์จากการลดภาษีในกรอบการค้าสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นหนึ่งที่ยังน่ากังวลในกรอบของการทำเอฟทีเออาเซียน-สหภาพยุโรป
คือการลดการอุดหนุนสินค้าโดยรัฐบาล
เพราะในกลุ่มของสหภาพยุโรปใหม่มีการผลิตสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับประเทศอาเซียน
โดยเฉพาะกลุ่มเกษตร
แต่ประเด็นนี้ไม่สามารถหยิบยกมาหารือได้ในกรอบเอฟทีเออาเซียน-สหภาพยุโรปได้
ดังนั้นจึงต้องฝากความหวังไว้ที่การเจรจารอบโดฮา
ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกเท่านั้น
ว่าจะสามารถบรรลุความตกลงระหว่างประเทศสมาชิกได้เร็วหรือไม่
เพราะไม่อย่างนั้นก็คงจะหลีกเลี่ยงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันไม่ได้
แม้ว่าจะมีการลดภาษีไปแล้วก็ตาม
หน้า 10