ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ

17 กันยายน 2550

 

 

อาเซียนถกตั้งองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ เร่งปูทางสู้ประชาคมเศรษฐกิจAEC



ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเข้ามาว่า นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นผู้นำคณะฝ่ายไทยเข้าร่วมประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านความร่วมมือทางทรัพย์สินทางปัญญา (ASEAN Working Group on Intellectual Property Cooperation : AWGIPC) ณ เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์

ประเด็นสำคัญที่พิจารณาในที่ประชุมก็คือ "AEC Blueprint" หรือแผนการดำเนินการของอาเซียนด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างปี 2004-2010 เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ภายในปี 2553 ซึ่งรวมถึงการวางระบบคุ้มครองผลงานทางลิขสิทธิ์และระบบการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นอกจากนี้อาเซียนยังตกลงกันว่าจะเข้าเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสากล (ระบบมาดริด) ภายในปี 2558 (2015) ด้วย

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาว่าควรจัดตั้งองค์กรบริหารการจัดเก็บลิขสิทธิ์อาเซียน ภายในปี 2558 เพื่อเป็นหน่วยงานกลางที่จะดูแลการใช้ประโยชน์ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ร่วมกันในอาเซียน อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเพราะประเทศสมาชิกอาเซียนมีระดับการดูแลงานลิขสิทธิ์ต่างกัน โดยบางประเทศยังไม่มีหน่วยงานจัดเก็บ อาทิ ลาว, กัมพูชา, บรูไน, พม่า และไทย

"ไทยยังไม่มีหน่วยงานที่ชัดเจนที่จะดูแลเรื่องนี้ เพราะกฎหมายของไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขในขั้นตอนเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งของไทยไม่มีเรื่องภาพยนตร์ และภายในอาเซียนก็ยังใช้กันฟรีอยู่ ประเด็นนี้ก็เป็นไอเดียที่ควรจะต้องมีการศึกษาต่อไปก่อนสรุป ซึ่งอีกประเด็นที่ต้องศึกษา คาดว่าจะต้องมีการหารือกันอีกครั้งก่อนสรุป" นางพวงรัตน์กล่าว

พร้อมกันนี้ไทยได้เสนอให้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ให้ความช่วยเหลือ ในการจัดการอบรมเจ้าหน้าที่ในลักษณะ on the job training ในสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของประเทศอาเซียนมีความรู้ความชำนาญ รวมทั้งมีความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีระบบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสากล (ระบบมาดริด) ซึ่งที่ประชุมอาเซียนก็เห็นพ้องตามที่ไทยเสนอ

นอกจากนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้ขอความร่วมมือกับ UNCTAD เพื่อจัดสัมมนาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากข้อกำหนดและข้อยกเว้น (exception and limitations) ในความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ เบื้องต้นตกลงว่าจะจัดที่ประเทศไทยช่วงต้นปี 2551 ซึ่งจะช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระบบทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกัน

รายงานข่าวแจ้งว่าขณะนี้ประเทศมาเลเซีย-อินโดนีเซีย-สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต่างเป็นประเทศที่มีระบบการตั้งองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์อยู่แล้ว จึงเห็นด้วยที่ควรจะมีองค์กรจัดเก็บกลางของอาเซียน อย่างไรก็ตามในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน (SEOM) จะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา ซึ่งหากมีแนวทางที่จะตั้งองค์กรกลาง จัดเก็บก็ต้องพิจารณาว่าจะเปิดไปในรูปแบบใด เพื่อให้เกิดประโยชน์ เกิดความสมดุล


หน้า 10