ที่มา :ประชาชาติธุรกิจ

13 กันยายน 2550

 

รายงาน

 

ปิดฉากลงแล้ว สำหรับการประชุมผู้นำ กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งที่ 15 ระหว่าง วันที่ 8-9 กันยายน 2550 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของประเทศเจ้าภาพ

โดยการประชุมในครั้งนี้ ผู้นำ APEC ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจได้ ประกาศปฏิญญาผู้นำ APEC ครั้งที่ 15 (Fifteenth APEC Economic Leader"s meeting) กับ ปฏิญญาแยกของผู้นำในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาที่สะอาด (APEC Leader"s Declaration on Climate Change, Energy Security and Clean Development) รวมไปถึง แถลงการณ์ผู้นำ APEC เพื่อสนับสนุนการเจรจาองค์การการค้าโลก (Statement on the WTO Negotiation) ด้วย

ประเด็นสำคัญที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในการประชุม APEC ครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น "ปฏิญญาเรื่องโลกร้อน" หรือ Declaration on Climate Change ซึ่งออสเตรเลีย ในฐานะประเทศเจ้าภาพ เพิ่งนำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาใน โค้งสุดท้ายคือ ในเดือนสิงหาคม 2550 ก่อนการประชุม APEC ในเดือนกันยายนเพียง 1 เดือน

ข้อเสนอของออสเตรเลียข้างต้น ส่งผลให้หลายเขตเศรษฐกิจ APEC แสดงความไม่เห็นด้วย กับหลายประเด็นในร่างปฏิญญาของเจ้าภาพ ท้ายที่สุด ช่วงสัปดาห์การประชุม APEC ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม หลายเขตเศรษฐกิจจึงต้องส่งคณะผู้แทนขึ้นมาประชุมในประเด็นนี้โดยเฉพาะ

โดยประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ในขณะนั้นมี 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1) คำนิยามของ "energy intensity" ที่ประเทศสมาชิก APEC ยังมีความเข้าใจแตกต่างกัน ซึ่งออสเตรเลียได้ชี้แจงว่า หมายถึง สัดส่วนการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ (GDP) ขณะที่ไทยและหลายเขตเศรษฐกิจมองว่า การเทียบกับ GDP ไม่ยุติธรรมกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีระดับ GDP "ต่ำกว่า" ประเทศพัฒนาแล้ว เพราะประเทศกำลังพัฒนามีความต้องการใช้พลังงานมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ต้องลดการใช้พลังงานมากกว่า ประเทศกำลังพัฒนา

2) ออสเตรเลีย ต้องการให้มีการระบุว่า ประเทศสมาชิก APEC จะปลูกป่าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และ 3) ออสเตรเลียต้องการให้ระบุว่า ภูมิภาค APEC จะมีการลดพลังงานลงเท่าไหร่ ซึ่งมีประเทศสมาชิกหลายประเทศ ไม่ต้องการให้มีการกำหนดตัวเลขเหล่านี้ ด้วยเหตุผลว่า APEC ไม่ใช่เวทีที่ดำเนินการในเรื่องนี้ ควรจะไปหารือกันในเวทีสหประชาชาติมากกว่า

"จีน" ได้กลายเป็นประเทศผู้นำในการคัดค้านข้อเสนอของออสเตรเลียทั้ง 3 ประเด็นในร่างปฏิญญา Climate Change อย่างเข้มแข็ง โดยมีญี่ปุ่น ซึ่งแสดงเจตจำนงตั้งแต่ต้นปีว่า ตระหนักถึงปัญหาเรื่องโลกร้อนและต้องการจะช่วยเยียวยา ส่วนกลุ่มอาเซียนให้การสนับสนุนจีน ในขณะที่สหรัฐ สนับสนุนออสเตรเลีย โดยกลุ่มประเทศคัดค้านได้ตั้งคำถามสำคัญถึงสหรัฐ-ออสเตรเลีย ว่า ทั้ง 2 ประเทศไม่ได้เป็นสมาชิกของ พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) ส่วนจีนและหลายประเทศในอาเซียนเป็นสมาชิก พิธีสารเกียวโต

ดังนั้นประเทศในกลุ่มนี้จึงมองว่า ควรจะนำเรื่อง Climate Change ไปหารือในกรอบที่หารือกันเกี่ยวกับภูมิอากาศในโลก คือ อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) ซึ่งจะมีการประชุมกันในระหว่างวันที่ 2-14 ธันวาคม 2550

ทั้งนี้เป็นที่ทราบดีกันว่า การที่ทั้งสหรัฐ-ออสเตรเลียไม่ยอมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโตเป็นเพราะ ไม่พอใจที่ตนเองในฐานะประเทศพัฒนาแล้ว จะต้อง "ถูกบังคับ" ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงตามบัญชีที่ 1 ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอยู่ใน บัญชีที่ 2 ลดด้วยความสมัครใจ ทำให้ทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก ไม่ยอมเข้าร่วมพิธีสารฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น

ในที่สุด คณะกรรมการที่หารือเรื่อง climate change โดยเฉพาะ ต้องใช้เวลาในการหารือจนถึงคืนวันที่ 7 กันยายน ก่อนที่การประชุมผู้นำ APEC จะเริ่มขึ้นไม่กี่ชั่วโมง ท้ายที่สุด ออสเตรเลีย ในฐานะเจ้าภาพสามารถล็อบบี้ให้จีนยอมที่จะใส่เป้าหมายตัวเลขในการลดพลังงาน เมื่อจีนยอมรับ ทำให้สมาชิก APEC ที่เหลือยอมรับตามไปด้วย

ส่งผลให้ออสเตรเลีย ในฐานะประเทศเจ้าภาพ ประสบความสำเร็จที่ต้องการให้ปฏิญญา climate change ประกาศเจตจำนงของ APEC ในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยลดการใช้พลังงานลง 25% ภายในปี 2573 และเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าอีก 20 ล้านเฮกเตอร์ภายในปี 2563 โดยจีนขอให้ระบุในปฏิญญาว่า "เป้าหมายเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึงเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย"

นอกจากนี้ ในการประชุมผู้นำ APEC ยังมีความพยายามที่จะผลักดันให้การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาเดินหน้าไป ซึ่งในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี APEC มีความพยายามจากจีนในการ ขอแก้ถ้อยคำในแถลงการณ์ APEC ในการสนับสนุนการเจรจาการค้าโลกให้อ่อนลง เนื่องจากจีนไม่ต้องการให้มีการเจรจาลดสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มเติมใน WTO อีก

แต่ในท้ายที่สุด ในการประชุมนอกรอบในช่วงเช้าก่อนการประชุมระดับผู้นำ APEC ในวันที่ 8 กันยายน ตัวแทนประชุมสมาชิก APEC ทั้ง 20 เขตเศรษฐกิจได้ "ตกลง" ตามร่างแถลงการณ์ ทำให้จีนจำต้อง "ยอมรับ" ในเวลาต่อมา ส่งผลให้ในระหว่างการประชุมผู้นำ APEC เห็นพ้องกันให้ คณะเจรจาของประเทศ ตนใช้กรอบการเจรจา (modalities) สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมฉบับที่จัดทำขึ้นล่าสุดใช้เป็นพื้นฐานการหารือที่กำลังดำเนินอยู่ที่เจนีวา ขณะนี้

ในขณะที่ประเด็นการรับสมาชิกใหม่ของ APEC นั้น ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส APEC กับระดับรัฐมนตรี APEC ได้ปรากฏ ความเห็นที่แตกต่างกันออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ออสเตรเลีย ต้องการให้เปิดรับสมาชิกใหม่ แต่จีนคัดค้าน ซึ่งในที่สุดผู้นำ APEC ได้ตกลงที่จะเลือกวิธี "เลื่อน" การตัดสินใจในการเปิดรับสมาชิก APEC ใหม่ออกไปอีก 3 ปี

"ออสเตรเลีย" ในฐานะเจ้าภาพการประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ 15 ได้ทำให้โลกจดจำการประชุม APEC ครั้งนี้ในแง่มุมของการผลักดันในเรื่องโลกร้อน ผ่านปฏิญญาซิดนีย์ climate change หลังจากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่า เปรู ในฐานะเจ้าภาพการประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ 16 จะเสนอ Theme ในการประชุมปีหน้าอย่างไร


หน้า 7