นายยุทธศักดิ์ สุภสร
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า
ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในช่วง 8 เดือนแรก ปี 2550
มีมูลค่ารวม 395,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7
จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นคือ ข้าว น้ำตาล
มันสำปะหลัง และผักสด ขณะที่สินค้าส่งออกลดลงคือ ทูน่าแปรรูป
สับปะรดกระป๋อง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ
ราคาวัตถุดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม
อุตสาหกรรมอาหารยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบทั้งการแข็งค่าของเงินบาท
การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ การขาดแคลนวัตถุดิบ
การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้า
ซึ่งมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารของไทย
นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไตรมาส 4 คาดว่า
จะฟื้นตัวหลังจากชะลอตัวก่อนหน้านี้ โดยจะมีมูลค่า 156,000 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8
เป็นผลจากเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้นและเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ
ทำให้การส่งออกอาหารทั้งปีจะมีมูลค่า 600,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ
7.8 จากปี 2549 ขณะที่การนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกขยายตัวต่ำ
โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบ เช่น ทูน่าแช่แข็ง และถั่วเหลือง
เนื่องจากราคาตลาดโลกสูงขึ้น และภาวะการส่งออกเริ่มชะลอตัว
สำหรับภาวะการผลิตอาหารในช่วง 8 ดือนแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 3
ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีของปี 2549 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.2
โดยเฉพาะการผลิตทูน่ากระป๋องและสับปะรดกระป๋อง
เพราะขาดแคลนวัตถุดิบและราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง
ปรับขึ้นร้อยละ 60 จาก 900 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เป็น 1,450
ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า
การส่งออกอาหารที่เติบโตร้อยละ 8 ถือว่าประสบความสำเร็จ
ยอดการส่งออกมีมูลค่าทะลุ 600,000 ล้านบาท ถือเป็นไปตามเป้าหมาย
โดยคาดว่าปี 2551 การส่งออกอาหารจะขยายตัวร้อยละ 10
เนื่องจากไทยได้มีการทำข้อตกลงเสรีการค้า (เอฟทีเอ) กับหลายประเทศ
และผลจากภาวะโลกร้อน ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารจากไทย
โดยไทยหวังเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารและวัตถุดิบเพื่อป้อนตลาดโลก
หน้า 17