พาณิชย์คุมเข้มสวมสิทธิส่งออก จับตารถยนต์-หลอดไฟ-เสื้อผ้า
 

ที่มา นสพ. :ประชาชาติธุรกิจ

 11 ตุลาคม พ.ศ. 2550

      พาณิชย์-กรมศุลกากร สวมบทโหดตรวจสอบผู้ส่งออกแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าส่งไปอียู-สหรัฐ หากพบจะระงับนำเข้า เน้นจับตารถยนต์ รถจักรยานยนต์ หลอดไฟประหยัดพลังงาน เซรามิก ไฟแช็ก และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ประสานงานกับศุลกากรประเทศผู้นำเข้า หากได้รับเบาะแสของผู้ส่งออกไทยที่มีแนวโน้มให้ความร่วมมือในการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้า โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบการกระทำผิด ศุลกากรประเทศนำเข้าจะระงับการนำเข้า หรือหากมีการนำเข้าที่ไม่ถูกต้อง จะดำเนินการตามกฎหมายของประเทศผู้นำเข้า ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลกระทบซึ่งทางผู้นำเข้าจะนำมาเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ส่งออกไทยด้วย

การดำเนินการป้องกันการสวมสิทธิ เกิดขึ้นภายหลังจากกรมได้ตรวจสอบพบว่ามีการสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้าไทยในการส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยสินค้าที่มีปัญหาสวมสิทธิมีหลายรายการ อาทิ สำหรับสินค้าที่เคยตรวจพบมีการสวมสิทธิที่ผ่านมา เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หลอดไฟประหยัดพลังงาน เซรามิก ไฟแช็ก เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

โดยพฤติกรรมการสวมสิทธิที่พบมีหลายลักษณะ เช่น การนำสินค้าเข้าและส่งออก (re-export) การนำเข้าโดยสำแดงมูลค่าต่ำแล้ว ส่งออกแบบปกติเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าและหลบเลี่ยงการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า การส่งโดยตรงจากประเทศอื่นไปยังประเทศผู้นำเข้า แต่มาขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดของไทย ซึ่งการกระทำดังกล่าว กรมสามารถตรวจสอบได้ โดย เจ้าหน้าที่ของสำนักป้องกันการแอบอ้างสิทธิ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการป้องกันการสวมสิทธิสินค้าไทย

"สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์แนวโน้มการสวมสิทธิสินค้ารุนแรงขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆ มีการใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าจากประเทศคู่ค้าระหว่างกันมากขึ้น และบางครั้งเกิดจากผู้ประกอบการไทยที่เห็นแก่ประโยชน์เล็กน้อยในการให้ความร่วมมือในการกระทำดังกล่าว โดยใช้เอกสารเท็จ เช่น ใบกำกับสินค้า (invoice) หรือใบขนสินค้า (bill of lading หรือ airway bill) มาใช้ประกอบในการขอรับหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าไทยแล้วนำไปใช้ในการนำเข้าสินค้า ทั้งๆ ที่สินค้าเหล่านั้นไม่มีแหล่งกำเนิดของไทย" นางอภิรดีกล่าว

นอกจากจะดำเนินการตามกฎหมายของผู้นำเข้าแล้ว ในส่วนของกรมจะได้ดำเนินการตรวจสอบการแอบอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป รวมถึงผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือในการกระทำผิด โดยประสานกับกรมศุลกากร หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง หากพบมีการกระทำผิดจะดำเนินการอย่างเต็มที่ตั้งแต่การระงับการออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า แจ้งประเทศผู้นำเข้าขอยกเลิกหนังสือรับรอง รวมทั้งการดำเนินการตามกฎหมายด้วย


หน้า 10