จีน-สหรัฐ เปิดฉากสงครามการค้าใน WTO ผลัดกันฟ้องคดีละเมิดIP-เก็บภาษีAD/CVD

 

ที่มา นสพ :คมชัดลึก

9 ตุลาคม พ.ศ. 2550  

      ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ "แมทเทล" ประกาศเรียกคืน (recall) สินค้าของเล่นเด็ก "made in china" หลายล้านชิ้นในสหรัฐและทั่วโลก เนื่องจากตรวจสอบพบการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสีของเล่นซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แม้ภายหลังจะออกมาขอโทษโดยระบุว่า ปัญหาเกิดจากดีไซน์ที่ผิดพลาดของแมทเทลเอง แต่กรณีดังกล่าวทำให้ประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับมาตรฐานสินค้าจีนอย่างจริงจัง จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของจีน รวมถึงประเด็นที่สหรัฐพยายามบีบให้จีนทำให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นเพื่อลดการขาดดุลการค้า

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2550 สงครามการค้าของทั้งสองประเทศเปิดฉากอีกครั้ง โดยเวทีที่ทั้งสองประเทศเลือกใช้คือ "องค์การระงับข้อพิพาท (DSB) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)" ที่ประกาศตั้งคณะผู้พิจารณา (panel) ตามคำร้องขอของสหรัฐ เป็นครั้งที่ 2 ในคดีที่สหรัฐร้องเรียนว่า มาตรการและการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ของจีนไม่เพียงพอ โดยสหรัฐอ้างว่า ในการเจรจา 2 ฝ่ายระหว่างจีนและสหรัฐไม่ได้ข้อยุติ จึงร้องขอให้มีการตั้งคณะผู้พิจารณา โดยในครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2550 สหรัฐขอให้ตั้งคณะผู้พิจารณาเช่นกัน แต่จีนไม่ยอม จึงต้องมีการเจรจาต่อ และเมื่อไม่ได้ข้อสรุป DSB จึงยอมรับที่จะตั้งคณะผู้พิจารณา

คณะผู้พิจารณาจะจำกัดการพิจารณาไว้ในประเด็นว่า ปักกิ่งได้มีการกระทำที่เพียงพอในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ รวมถึงประเด็นที่สหรัฐตอบโต้ทางการค้ากับจีน เป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐว่า เหมาะสมหรือไม่ โดยทางสหรัฐอ้างว่า มูลค่าที่สหรัฐใช้ตอบโต้ทางการค้าจีน คำนวณมาจากความเสียหายของอุตสาหกรรมสหรัฐที่ถูกจีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ปฏิกิริยาของจีนหลังทราบข่าวถึงกับประกาศว่า รู้สึกเสียใจที่ทราบว่า สหรัฐต้องการให้มีการตั้งคณะผู้พิจารณา พร้อมทั้งยืนยันว่า มาตรการของจีนสอดคล้องกับหลัก WTO พร้อมทั้งแถลงว่า สหรัฐพยายามที่จะให้ประเทศกำลังพัฒนายอมรับพันธกรณีที่มากกว่า TRIPS นอกจากนี้จีนมองว่า ประเด็นนี้อาจจะทำลายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ Mr. Lu Xiankun เจ้าหน้าที่การค้าจีนระบุว่า จีนรู้สึกเสียใจกับการดำเนินการทางกฎหมายของสหรัฐ

ปัจจุบันจีนถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งแต่ DVDs, CDs, เสื้อผ้าของดีไซเนอร์ ไปจนถึงสินค้าที่เกี่ยวกับกีฬา และยารักษาโรค

"สหรัฐตระหนักว่า จีนมีความพยายามที่จะปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และพยายามที่จะปรับปรุงการปกป้องและการบังคับใช้กฎหมาย แต่ปักกิ่งไม่ได้ทำอย่างเพียงพอ ทั้งนี้การหารือระหว่างสองประเทศถือว่าล้มเหลว ทำให้สหรัฐมองว่า การตั้งคณะผู้พิจารณาเป็นสิ่งจำเป็น กรณีนี้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอเมริกัน ตั้งแต่ฮอลลีวูด ถึงซิลิคอน วัลเลย์ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลสหรัฐถึงได้จริงจังกับการต่อสู้กับการละเมิด" นายแดน ฮันเตอร์ เจ้าหน้าที่การค้าของสหรัฐกล่าว

นายฮันเตอร์ปฏิเสธที่จะทบทวนข้อกล่าวหาของสหรัฐที่มีต่อจีน โดยเขาอ้างถึงคำพูดของนาย Juan Millan นักกฎหมายการค้าของสหรัฐที่กล่าวว่า การละเมิดในจีนอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่าจะรับได้ นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า จีนกำหนดให้สินค้าที่มีการละเมิดมากกว่า 500 ชิ้นจึงจะถูกดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งเราพบว่ามันยากที่จะเข้าใจ อย่างไรก็ตามเหตุใดจีนถึงกำหนดระดับสินค้าขั้นต่ำไว้ และหากในกรณีที่จับได้ 499 ชิ้น เท่ากับว่าเขาจะไม่ถูกดำเนินคดี

เบื้องหลังของกรณีนี้เกิดจากรัฐบาลสหรัฐได้รับแรงกดดันจากสภาคองเกรส ให้ทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการที่สหรัฐขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง สหรัฐขาดดุลการค้าในปี 2549 สูงถึง 758.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยขาดดุลการค้าให้กับจีนสูงที่สุดถึง 232.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลกระทบให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุสำคัญเชื่อว่าเกิดจากการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากประเทศอื่น รัฐบาลสหรัฐจึงจำเป็นต้องนำประเด็นนี้เข้าสู่การหารือภายใต้ WTO

ในทางกลับกัน จีนร้องขอให้มีการหารือกับสหรัฐ ซึ่งถือเป็นกระบวนการแรกภายใต้องค์กรระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO ในคดี สหรัฐใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และต่อต้านการอุดหนุน (CVD) กับการนำเข้ากระดาษเคลือบ (coated paper) จากจีน โดยกระบวนการหารือสองฝ่ายจะใช้เวลา 60 วัน หากไม่ได้ข้อสรุป จีนสามารถร้องขอให้มีการตั้งคณะผู้พิจารณาขึ้นมาพิจารณาคดีนี้ได้

กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐ เปิดการไต่สวนการอุดหนุนสินค้ากระดาษเคลือบจากจีน และพบว่ามีการอุดหนุนจริง ต่อมาพบว่ามีการทุ่มตลาดในสินค้าชนิดเดียวกันด้วย จึงประกาศใช้มาตรการทั้ง AD และ CVD กับสินค้ากระดาษเคลือบจากจีน

Mr. Gao Hucheng รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ของจีน ระบุว่า การที่สหรัฐประกาศเก็บภาษี CVD และ AD ในสินค้าชนิดเดียวกัน ทำให้เกิดภาษีซ้ำซ้อน และผิดกับหลักการของ WTO

สงครามการค้ายกแรกเพิ่งเริ่มขึ้น โดยทั้งจีนและสหรัฐต่างเป็นโจทก์ยื่นฟ้องฝ่ายตรงข้ามคนละคดี โลกคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า ทั้งสองประเทศจะสามารถหาทางยุติข้อพิพาททางการค้าในครั้งนี้ได้หรือไม่ รวมทั้งประเทศอื่นจะได้รับผลกระทบอย่างไรกับสงครามของสองยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้


หน้า 10