FACEBOOK
ช่อง 5 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 17.00-17.50 น.
KNOWLEDGE

วัฎจักรของธุรกิจครอบครัว


วัฎจักรของธุรกิจครอบครัว


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล
ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

การเข้าใจวัฎจักรของธุรกิจครอบครัวจะทำให้ผู้บริหาร สมาชิกครอบครัว มีความเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวมากขึ้ โดยทั่วไปวัฎจักรของธุรกิจครอบครัวแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ดังนี้
ช่วงที่ 1 ผู้ก่อตั้ง (Founders) เป็นช่วงที่ธุรกิจอยู่ในความควบคุมการบริหารงานของผู้ก่อตั้งหรือเจ้าของคนเดียว (Controlling owner) ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจของรุ่นพ่อแม่ที่มีอายุประมาณ 25-35 ปี อายุของลูกประมาณ 0-10 ปี และจะมีอายุของธุรกิจประมาณ 0-5 ปี ช่วงนี้ธุรกิจจะเติบโตเร็ว เนื่องจากต้องทุ่มเทและใช้เวลามาก เพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จ ในช่วงนี้องค์กรจะมีขนาดเล็กและคล่องตัว ผู้ก่อตั้งมีอำนาจการตัดสินใจเพียงผู้เดียว มีหลักการบริหารเน้นการลงทุนมากกว่าได้กำไร มีระบบการใช้จ่ายเงินเท่าที่ต้องการเพื่อมุ่งให้ธุรกิจอยู่รอด และมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือธุรกิจประสบความสำเร็จ
ช่วงที่ 2 หุ้นส่วนพี่น้อง (Sibling Partnership) เป็นช่วงที่ธุรกิจครอบครัวอยู่ในการบริหารงานร่วมกันของพี่น้องในฐานะหุ้นส่วน ซึ่งธุรกิจอยู่ในช่วงเติบโตและพัฒนา โดยจะมีอายุของรุ่นพี่น้องประมาณ 45-50 ปี อายุของลูกประมาณ 15-25 ปี และจะมีอายุของธุรกิจประมาณ 10-20 ปี ช่วงนี้ธุรกิจเริ่มเข้าที่ เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนขึ้น เน้นการตัดสินใจร่วมกับพี่น้อง และอาจจะนำระบบบริหารแบบมืออาชีพมาใช้ในองค์กร ส่วนเจ้าของหรือผู้บริหาร มีความต้องการควบคุมและมั่นคง มีการวางแผนล่วงหน้าในการหาคนมาช่วยบริหารหรือสืบทอดธุรกิจต่อ มีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการศึกษามุ่งเน้นเป้าหมายการนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจ และการพัฒนารุ่นลูกเพื่อบ่มเพาะทายาทธุรกิจ ที่จะเข้ามาสืบทอดกิจการต่อจากรุ่นพ่อแม่
ช่วงที่ 3 สหพันธ์เครือญาติ (Cousins Confederation) เป็นช่วงที่ธุรกิจครอบครัวช่วงธุรกิจเติบโตและอยู่ตัว และนี้จะเป็นการขยายธุรกิจ ซึ่งอายุของรุ่นพ่อแม่ประมาณ 55-70 ปี อายุของลูกประมาณ 30-45 ปี และจะมีอายุของธุรกิจประมาณ 20-30 ปี ในช่วงนี้ธุรกิจต้องการการปรับกลยุทธ์ใหม่และลงทุนใหม่ มีผู้เกี่ยวข้องในครอบครัวและธุรกิจเพิ่มมากขึ้น การตัดสินใจจึงใช้แบบเสียงข้างมาก เน้นการจัดสรรทรัพยากร ดูแล และการลงทุน ตลอดจนมีกลยุทธ์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การวางตัวผู้สืบทอดธุรกิจ การสร้างความสัมพันธ์กับญาติผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจครอบครัว การประเมินการลงทุน การแสวงหาธุรกิจใหม่เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น และการใช้จ่ายในสาธารณกุศลเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร โดยเป้าหมายสูงสุด คือ ครอบครัวและทุกคนในธุรกิจครอบครัวมีความสามัคคีกัน